บัตรพลี เครื่องสังเวยบรวงสรวง

บัตรพลี เครื่องสังเวยบรวงสรวง

บัตรพลีพระเกตุ

            บัตรพลี หลายคนอาจจะยังไม่เคยได้ยิน แต่ผมเชื่อว่าทุกคนจะรู้จัก “สะตวง” คนเหนือจะรู้จักดีว่าสะตวงใช้ทำอะไร ซึ่งบัตรพลีก็คือสะตวงนั้นเอง แต่เขาเรียกกันว่า “บัตร”

            บัตร แปลว่าใบ หมายถึงใบตองกล้วยตานี แล้วนำมาเป็นกระทงสำหรับใส่อาหารคาว หวาน ที่จะกระทำการพลีแด่เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์
            พลี แปลว่า การให้ การเซ่น ถวาย เสียสละเพื่อการบูชา
            บัตรพลี หมายถึง กระบะเครื่องสังเวย ทำด้วยหยวกกล้วย หักพับเป็นกระบะรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีก้านกล้วยตานี
4 ก้าน ประกอบเป็นขาตั้ง ภายในกระบะบรรจุกระทงใบตองสดใบเล็กๆ ขนาดถ้วยตะไล ใส่อาหารคาวหวาน ถั่ว งา นมเนย เป็นต้น

            บัตรทั่วไปที่ใช้เป็นเครื่องสังเวยอมุนย์ จะเป็นบัตรพลีอย่างง่าย ใช้กาบกล้วยหัก 4 มุม บรรจุกระทงใส่ข้าวปากหม้อ กุ้งพล่าปลายำ ถั่วคั่ว งาคั่ว อาหารคาวหวาน ผลไม้อย่างละน้อย เพื่อบังบรวงแก่อมุนย์ ภูตผีปิศาจ พ่อซื้อแม่ซื้อ พ่อแถนแม่แถน ผีป่าทางสามแพร่ง อย่างในครั้งที่เด็กไม่สบาย เกิดความผิดปกติขึ้น มักจะทำพิธีเซ่นไหว้ และทำขวัญเด็ก เนื่องจากถูกพ่อซื้อแม่ซื้อมารบกวนดังคำทำขวัญเด็กที่ว่า
            “แม่ซื้อลางบางพันอยู่ในไส้ มักร้องไห้ร้องคราง แม่ซื้อบางลางขวางอยู่ในสดือ ทำให้อึดอื้อแสลงท้อง ให้สอื้นร้องดิ้นรน” 

            ด้วยเหตุความเชื่อนี้จึงต้องมีการทำบัตรพลี เพื่อเสียแก่พ่อซื้อแม่ซื้อ ไว้ตามทางสามแพร่ง ดังคำขาลที่ว่า
            “แม่ซื้อบรรดาเที่ยวมาสถิต ทั้ง 28 ตนคิดมาทำโทษ ขออย่าพิโรธอดโทษา มารับเนื้อปลาสุรายำ อีกกระทองน้ำกระทงเข้า อนึ่งเล่าเครื่องอาภรณ์ ผู้คนสลอนห้อมล้อม เสร็จพรั่งพร้อมอยู่ไสว ขอเชิญไปลงบัตร กินให้สวัสดีพร้อมญาติ แล้วประลาศคลาไคล”

            การทำบัตรพลีในการบูชานพเคราะห์ ผู้จะทำต้องมีกำนัล 1 เฟื้อง หมากพลู 1 คำ เป็นเครื่องคำนับ ในพิธีบูชานพเคราะห์ต้องมีบัตรพลี 11 อัน แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ
            1. บัตรพระเกตุ 1 อัน สูง 9 ชั้น มียอดมีขาตั้ง

            2. บัตรเทพยดาอัฐทิศ 8 อัน สูง 3 ชั้น มียอดและมีขาตั้ง

            3. บัตรพระภูมิเจ้าที่ 1 อัน รูปสี่เหลี่ยม ไม่มียอดและขาตั้ง

            4. บัตรกรุงพาลี 1 อัน รูปสามเหลี่ยม ไม่มียอดและขาตั้ง บางทีเรียกว่า บัตรคางหมู

            ด้านกว้างและด้านยาวของบัตรมีขนาด 1 คืบเท่ากันทั้ง 4 ด้าน
            บัตรเทพยดาอัฐทิศนั้น ฐานบัตรชั้นต้นกำหนดให้สูงจากพื้นราว 1 คืบ ชั้นต่อๆไปลดลงตามส่วนพองามทำเป็น 3 ชั้น เหลือจาก 3 ชั้นให้ผูกรวมกันเป็นยอดบัตร สำหรับปักรูปเทวดาประจำบัตรนั้น
            บัตรพระเกตุต้องทำเป็น 9 ชั้นด้วยกัน เริ่มฐานต้นเท่ากัน ฐานต่อไปก็ให้ลดลงตามส่วนพองาม แต่ต้องให้ระยะถี่กันหน่อย เหลือจากชั้นที่ 9 ขึ้นไป ก็ให้ผูกรวมไว้สำหรับปักรูปเทวดาพระเกตุ
            บัตรของกรุงพาลีหรือพระภูมิเจ้าที่นั้น กำหนดให้ด้านยาวกว้างด้านละ 1 คืบเช่นกัน บัตรพระภูมิเจ้าที่เป็นกระบะรูปสี่เหลี่ยม และบัตรกรุงพาลีเป็นกระบะรูปสามเหลี่ยม

ภายในบัตรพลีบรรจุสิ่งของต่อไปนี้
            1. กระทงเล็กๆ ขนาดเท่าถ้วยตะไล 12 กระทง ภายในใส่ข้าวปากหม้อ อาหารคาวหวาน ถั่วคั่ว งาคั่ว ข้าวตอก นม เนย และนำกระทงบรรจุในฐานบัตรชั้นต้นตามกำลังของเทวดาประจำบัตรนั้น คือ
                        บัตรพระอาทิตย์ 6 กระทง
                        บัตรพระจันทร์ 15 กระทง
                        บัตรพระอังคาร 8 กระทง
                        บัตรพระพุธ 17 กระทง
                        บัตรพระเสาร์ 10 กระทง
                        บัตรพระพฤหัสบดี 19 กระทง
                        บัตรราหู 12 กระทง
                        บัตรพระศุกร์ 21 กระทง
                        บัตรพระเกตุ 9 กระทง
                        บัตรกรุงพาลี 3 กระทง
                        บัตรพระภูมิ 4 กระทง

            2. ธงสีต่างๆ 124 อัน ปักตามมุมบัตรโดยรอบ
                        บัตรพระอาทิตย์ ปักด้วยธงสีแดงแก่ 6 อัน
                        บัตรพระจันทร์ ปักด้วยธงสีขาว15 อัน
                        บัตรพระอังคาร ปักด้วยธงสีชมพู 8 อัน
                        บัตรพระพุธ ปักด้วยธงสีเขียวใบไม้ 17 อัน
                        บัตรพระเสาร์ ปักด้วยธงสีดำ 10 อัน
                        บัตรพระพฤหัสบดี ปักด้วยธงสีเหลือง 19 อัน
                        บัตรราหู ปักด้วยธงสีเม็ดมะปราง (ม่วง) 12 อัน
                        บัตรพระศุกร์ ปักด้วยธงสีขาวมัน 21 อัน
                        บัตรพระเกตุ ปักด้วยธงสีทอง 16 อัน
                        บัตรกรุงพาลี ปักด้วยธงสีทอง 3 อัน
                        บัตรพระภูมิ ปักด้วยธงสีทอง  4 อัน
            3. หมากพลูจีบจำนวน 124 คำ จัดใส่ไว้ชั้นกลางของบัตรเท่าจำนวนกระทง
            4. ดอกไม้สีต่างๆ 9 สี ใส่ในชั้นบนของบัตร
                        ดอกไม้สีเหลือง เช่น ดอกดาวเรืองสีส้ม ใส่ในบัตรพระเกตุ บัตรกรุงพาลี บัตรพระภูมิ
                        ดอกไม้สีแดงแก่ เช่น ดอกกุหลาบ ใส่บัตรพระอาทิตย์
                        ดอกไม้สีขาว เช่น ดอกมะลิ ใส่บัตรพระจันทร์
                        ดอกไม้สีชมพู เช่น ดอกบัวหลวง หรือดอกกุหลาบมอญ ใส่ในบัตรพระอังคาร
                        ดอกไม้สีเขียว เช่น ดอกขจร ใส่ในบัตรพระพุธ
                        ดอกไม้สีม่วง เช่น ดอกอัญชันแก่ ใส่ในบัตรพระเสาร์
                        ดอกไม้สีเหลืองอ่อน เช่น ดอกดาวเรืองสีเหลืองอ่อน ใส่บัตรพระพฤหัสบดี
                        ดอกไม้สีเม็ดมะปราง เช่น ดอกอัญชันม่วงอ่อน ใส่ในบัตรพระราหู
                        ดอกไม้สีขาวมัน เช่น ดอกจำปี ใส่บัตรพระศุกร์
            ถ้าหาดอกไม้สีที่ต้องการไม่ได้ ก็ใช้ดอกบานไม่รู้โรยขาวย้อมสีตามต้องการ
            5. รูปเทวดานพเคราะห์ 9 องค์ ปักตามยอดบัตรประจำของแต่ละองค์ ถ้าไม่มีรูปก็ใช้พวงมาลัยสวมแทน

            6. เทียนทำบัตร 11 เล่ม และเทียนจุดบูชาเทวดา 124 เล่ม
            7. ใบไม้รองบัตรบูชา
                        บัตรพระอาทิตย์รองด้วยใบไทรและใบราชพฤกษ์
                        บัตรพระจันทร์รองด้วยใบบัว
                        บัตรพระอังคารรองด้วยใบมะม่วง
                        บัตรพระพุธรองด้วยใบขนุน
                        บัตรพฤหัสบดีรองด้วยใบตอง
                        บัตรพระศุกร์รองด้วยใบเงินใบทอง
                        บัตรพระเสาร์รองด้วยใบมะตูม
                        บัตรพระราหูรองด้วยใบยอ

                   บัตรพลีมักใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีโกนจุก พิธีฉลองอายุ พิธีการมงคล บูชาบวงสรวงเทพยดา  บัตรพลี เป็นภาชนะที่จัดทำขึ้นเพื่อใส่เป็นเครื่องสังเวยบังบรวงต่อเทวดา  ทั้งก่อนการทำพิธีมงคล ส่วนการตั้งบัตรคู่ เป็นการตั้งบัตรบัตรพราย บัตรบายศรีคู่ ตั้งเพื่อปัดเป่าเสนียดจัญไร พิธีกลบบัตรสุมเพลิง หรือจะตัดต้นไม้ใหญ่มากๆ ที่คาดว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ก็ตั้งบัดบอกกล่าวบังบรวงสรวงสังเวยแก่รุกขเทวดาเหล่านั้นเสีย หรือไม่ว่าจะเป็นบัตรพลีเสียกระบาล บอกกล่าวต่อพญายมราช เจ้ากำนายเว้น เป็นต้น

2 ความคิดเห็น: