โองการแช่งน้ำ ประกาศแช่งน้ำโคลงห้า

โองการแช่งน้ำ ประกาศแช่งน้ำโคลงห้า
(โองการสำหรับใช้อ่านเมื่อมีพิธีถือน้ำกระทำสัตย์สาบานต่อพระมหากษัตริย์)

ร่าย (ร่ายพระวิษณุ พระนารายณ์)
๏ โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเป็นแท่น แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน บินเอาครุฑมาขี่ สี่มือถือสังข์จักรคธาธรณี ภีรุอวตาร อสูรแลงลาญทัก ททัคนิจรนาย ฯ (แทงพระแสงศรปลัยวาต)
ร่าย (ร่ายพระอิศวร พระศิวะ)
๏ โอมปรเมศวรา ผายผาหลวงอะคร้าว ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น ทรงอินทรชฎา สามตาพระแพร่ง แกว่งเพชรกล้า ฆ่าพิฆนจัญไร ฯ (แทงพระแสงศรอัคนิวาต)
ร่าย (ร่ายพระพรหม)
๏ โอมชัยชัยไขโสฬสพรหมญาณ บานเศียรเกล้า เจ้าคลี่บัวทอง ผยองเหนือขุนห่าน ท่านรังก่อดินก่อฟ้า หน้าจตุรทิศ ไทยมิตรดา มหากฤตราไตร อมไตยโลเกศ จงตรีศักดิท่าน พิญาณ ปรมาธิเบศ ไทธเรศสุรสิทธิพ่อ เสวยพรหมาณฑ์ใช่น้อย ประถมบุญภารดิเรก บูรภพบรู้กี่ร้อย ก่อมา ฯ (แทงพระแสงศรพรหมาศ)
๏ นานาอเนกน้าวเดิมกัลป์                    จักร่ำจักราพาฬเมื่อไหม้
กล่าวถึงตระวันเจ็ดอันพลุ่ง                   น้ำแล้งไข้ขอดหาย ฯ
๏ เจ็ดปลามันพุ่งหล้าเป็นไฟ                 วาบจัตุราบายแผ่นขว้ำ
ชักไตรตรึงษ์เป็นเผ้า                             แลบ่ล้ำสีลอง ฯ
๏ สามรรถญาณครเพราะเกล้าครองพรหม    ฝูงเทพนองบนปานเบียดแป้ง
สรลมเต็มพระสุธาวาสแห่งหั้น               ฟ้าแจ้งจอดนิโรโธ ฯ
๏ กล่าวถึงน้ำฟ้าฟาดฟองหาว               ดับเดโชฉ่ำหล้า
ปลาดินดาวเดือนแอ่น                           ลมกล้าป่วนไปมา ฯ
๏ แลเป็นแผ่นเมืองอินทร์                      เมืองธาดาแรกตั้ง
ขุนแผนแรกเอาดินดูที่                           ทุกยั้งฟ้าก่อคืน ฯ
๏ แลเป็นสี่ปวงดิน                                 เป็นเขายืนทรง้ำหล้า
เป็นเรือนอินทร์ถาเถือก                         เป็นสร้อยฟ้าคลี่จึ่งบาน ฯ
๏ จึ่งเจ้าตั้งผาเผือกผาเยอ                    ผาหอมหวานจึ่งขึ้น
หอมอายดินเลอก่อน                             สรดึ้นหมู่แมนมา ฯ
๏ ตนเขาเรืองร่อนหล้าเลอหาว             หาวันคืนไป่ได้
จ้าวชิมดินแสงหล่น                               เพียงดับไต้มืดมูล ฯ
๏ ว่นว่นตาขอเรือง                                เป็นพระสูรย์ส่องหล้า
เป็นเดือนดาวเมืองฉ่ำ                           เห็นฟ้าเห็นแผ่นดิน ฯ
๏ แลมีค่ำมีวัน                                       กินสาลีเปลือกปล้อน
บมีผู้ต้อนแต่งบรรณา                            เลือกผู้ยิ่งยศเปนราชาอะคร้าว
เรียกนามสมมติราชเจ้า                         จึ่งตั้งท้าวเจ้าแผ่นดิน ฯ
๏ สมมติแกล้วตั้งอาทิตย์เดิมกัลป์         สายท่านทรงธรณินทร์เรื่อยหล้า
วันเสาร์วันอังคารวันไอยอาทิ์                กลอยแรกตั้งฟ้ากล่าวแช่งผี ฯ
๏ เชืยกบาศด้วยชันรอง                         ชื่อพระกำปู่เจ้า
ท่านรังผยองมาแขก                              แรกตั้งขวัญเข้าธูปเทียน ฯ
๏ เหล็กกล้าหญ้าแพรกบั้นใบตูม            เชียรเชียรใบบาตรน้ำ
โอมโอมภูมิเทเวศ                                 สืบค้ำฟ้าเที่ยงเฮยย่ำเฮย ฯ
๏ ผู้ใดเภทจงคด                                   พาจกจากซึ่งหน้า
ถือขันสรดใบพลูตานเสียด                   หว้ายชั้นฟ้าคู่แมน ฯ
๏ มารเฟียดไททศพล ช่วยดู                 ไตรแดนจักอยู่ค้อย
ธรรมมารคปรตเยกช่วยดู                      ห้าร้อยเฑียรแมนเดียว ฯ
๏ อเนกถ่องพระสงฆ์ช่วยดู                    เขียวจรรยายิ่งได้
ขุนหงส์ทองเกล้าสี่ช่วยดู                      ชรอ่ำฟ้าใต้แผ่นหงาย ฯ
๏ ฟ้าฟัดพรีใจยังช่วยดู                          ใจตายตนบใกล้
สี่ปวงผีหาวแห่งช่วยดู                           พื้นใต้ชื่อกามภูมิ ฯ
๏ ฟ้าชรแร่งหกคลองช่วยดู                   ครูมคลองแผ่นช้างเผือก
ผีกลางหาวหารแอ่นช่วยดู                     เสี่ยงเงือกงูวางขึ้นลง ฯ
๏ ฟ้ากระแฉ่นเรือนผยองช่วยดู              เอาธงเป็นหมอกหว้าย
เจ้าผาดำสามเส้าช่วยดู                          แสนผีพึงยอมท้าว
๏ เจ้าผาดำผาเผือกช่วยดู                      หันเหย้าวปู่สมิงพราย ฯ
เจ้าผาหลวงผากลายช่วยดู ฯ
๏ ดีร้ายบอกคนจำ                                 ผีพรายผีชรหมื่นดำช่วยดู
กำรูคลื่นเป็นเปลว                                 บซื่อน้ำตัดคอ ฯ
๏ ตัดคอเร็วให้ขาด                               บซื่อมล้างออเอาใส่เล้า
บซื่อน้ำหยาดท้องเป็นรุ้ง                      บซื่อแร้งกาเต้าแตกตา ฯ
๏ เจาะเพาะพุงใบแบ่ง                           บซื่อหมาหมีเสือเข่นเขี้ยว
เขี้ยวชาชแวงยายี                                 ยมราชเกี้ยวตาตาวช่วยดู ฯ
๏ ชื่อทุณพีตัวโตรด                              ลมฝนฉาวทั่วฟ้าช่วยดู
ฟ้าจรโลดลิวขวาน                                ขุนกล้าแกล้วขี่ยูงช่วยดู ฯ
๏ เคล้าฟ้าเคลือกเปลวลาม                   สิบหน้าเจ้าอสูรช่วยดู
พระรามพระลักษณชวักอร                    แผนทูลเขาเงือกปล้ำช่วยดู ฯ
ร่าย
๏ ปล้ำเงี้ยวรอนราญรงค์ ผีดงผีหมื่นถ้ำ ล้ำหมื่นผา มาหนน้ำหนบก ตกนอกขอกฟ้าแมน แดนฟ้าตั้งฟ้าต่อ ล่อหลวงเต้า ทั้งเหง้าภูติพนัสบดี ศรีพรหมรักษ์ยักษ์กุมาร หลายบ้านหลายเท่า ล้วนผีห่าผีเหว เร็วยิ่งลมบ้า หน้าเท่าแผง แรงไกยเอาขวัญ ครั้นมาถึงถับเสียงเยียชระแรงชระแรง แฝงข่าวยินเยียรชระรางชระราง รางชางจุบปาก เยียจะเจียวจะเจียว เขี้ยวสรคาน อานมลิ้น เยียละลายละลาย ตราบมีในฟ้าในดิน บินมาเยียพพลุ่ง จุ่งมาสูบเอา เขาผู้บซื่อ ชื่อใครใจคด ขบถเกียจกาย วายกระทู้ฟาดฟัด ควานแควนมัดศอก หอกดิ้นเด้าเท้าถก หลกเท้าให้ไปมิทันตาย หงายระงมระงม ยมบาลลากไป ไฟนรกปลาบปลิ้นดิ้นพลาง เขาวางเหนืออพิจี ผู้บดีบซื่อ ชื่อใครใจคด ขบถแก่เจ้า ผู้ผ่านเกล้าอยุธยา สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหา จักรพรรดิศรราชาธิราช ท่านมีอำนาจมีบุญ คุณอเนกา อันอาศัยร่ม แลอาจข่มชัก หักกิ่งฆ่า อาจถอนด้วยฤทธานุภาพ บาปเบียนตน พันธุ์พวกพ้อง ญาติกามาไส้ร ไขว้ใจจอด ทอดใจรัก ชักเกลอสหาย ตนทั้งหลายมาเพื่อจะทำขบถ ทดโทรห แก่เจ้าตนไส้ร จงเทพยุดาฝูงนี้ให้ตายในสามวัน อย่าให้ทันในสามเดือน อย่าให้เคลื่อนในสามปี อย่าให้มีสุขสวัสดีเมื่อใด อย่ากินเข้าเพื่อไฟจนตาย ฯ
๏ จงไปเป็นเปลวปล่อง                        อย่าอาไศรยแก่น้ำจนตาย
น้ำคลองกลอกเป็นพิษ                         นอนเรือนคำรนคาจนตาย ฯ
๏ คาบิดเปนตาวงุ้ม                             ลืมตาหงายสู่ฟ้าจนตาย
ฟ้ากระทุ่มทับลง                                 ก้มหน้าลงแผ่นดินจนตาย
แล่งแผ่นดินปลงเอาชีพไป                    สีลองกินไฟต่างง้วน ฯ
ร่าย
๏ จรเข้ริบเสือฟัด หมีแรดถวัดแสนงขนาย หอกปืนปลายปักครอบใครต้องจอบจงตาย งูเงี้ยวพิษทั้งหลายลุ่มฟ้า ตายต่ำหน้ายังดิน นรินทรหยาบหลายหล้า ใครกวินซื่อแท้ผ่านฟ้า ป่าวอวยพร ฯ
๏ อำนาจแปล้เมือแมนอำมรสิทธิ                         มีศรีบุญพ่อก่อเศกเหง้า
ยศท้าวตริไตรจักร                                           ใครซื่อเจ้าเติมนาง ฯ
๏ มิ่งเมืองบุญศักดิ์แพร่                                     ใครซื่อรางควายทอง
เพิ่มช้างม้าแผ่วัวควาย                                      ใครซื่อฟ้าส่องย้าวเร่งยิน ฯ
๏ เพรงรัตนพรายพรรณยื่น                                ใครซื่อสินเภตรา
เพิ่มเข้าหมื่นมหาไชย                                        ใครซื่อใครรักเจ้าจงยศ ฯ
๏ กลืนชนมาให้ยืนยิ่ง                                       เทพายศล่มฟ้า
อย่ารู้ว่าอันตราย                                             ใจกล้าได้ดังเพชร ฯ
ร่าย
๏ ขจายขจรอเนกบุญ สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิศรราชเรื่อยหล้า สุขผ่านฟ้าเบิกสมบูรณ์พ่อสมบูรณ์ ฯ


โองการแช่งน้ำ ประกาศแช่งน้ำโคลงห้า
(โองการสำหรับใช้อ่านเมื่อมีพิธีถือน้ำกระทำสัตย์สาบานต่อพระมหากษัตริย์)

จาก วรรณกรรมอยุธยา เล่ม ๑ กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ พุทธศักราช ๒๕๔๐ 
                 จุดมุ่งหมายของการแต่งลิลิตโองการแช่งน้ำในครั้งแรก คงมิได้มุ่งหวังจะให้เป็นวรรณคดีที่ใช้อ่านกันทั่ว ๆ ไป แต่ต้องการจะให้เป็นลงโทษทางใจ ที่พราหมณ์ใช้อ่านในพระราชพิธีศรีสัจปานกาล (พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา หรือน้ำพระพิพัทธสัจจา) ซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญในสมัยโบราณ มีหลักฐานกล่าวไว้ชัดเจนในกฎมนเทียรบาลตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาว่า
อนึ่ง ลูกขุนผู้ใดขาดถือน้ำพระพิพัท โทษถึงตาย ถ้าบอกป่วย คุ้ม[โทษ] ถ้าลูกขุนผู้ถือน้ำพิพัท ห้ามถือแหวนนากแหวนทองแลกินเข้ากินปลากินน้ำยาแลเข้ายาคูก่อนน้ำพระพิพัท ถ้ากินน้ำพระพิพัทจอกหนึ่ง แลยื่นให้แก่กันกิน กินแล้วมิได้ใส่ผม เหลือนั้นล้างเสีย โทษเท่านี้ในระวางกระบถ
                 ครั้นมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังคงมีพระราชพิธีนี้สืบต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน ตอนที่กล่าวถึงพระราชพิธีเดือนห้า ว่าด้วยพระราชพิธีศรีสัจปานกาล ว่า การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในกรุงเทพฯ นี้มีอยู่ห้าอย่าง คือ
๑.   ถือน้ำเมื่อแรกพระเจ้าแผ่นดินขึ้นเสวยราชสมบัติ
๒.   ถือน้ำปรกติสำหรับข้าราชการ ปีละสองครั้ง คือ ในวันขึ้นสามค่ำ เดือนห้า กับวันขึ้นสิบสามค่ำ เดือนสิบ
๓.   ถือน้ำสำหรับผู้ซึ่งมาแต่เมืองปัจจามิตรเข้ามาสู่พระบรมโพธิสมภาร
๔.   ถือน้ำทุกเดือนสำหรับทหารซึ่งเป็นผู้ถืออาวุธอยู่เสมอ
๕.   ถือน้ำแรกเข้ารับตำแหน่งของผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการ
                   การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาทั้งห้าอย่างนี้ จะต้องมีการอ่านคำสาบานตลอดทั่วหน้า ไม่ยกเว้น และคำสาบานแช่งน้ำนี้ก็ใช้ต่อ ๆ กันมาโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอันใด คงจะเนื่องมาจากเป็นโองการอันศักดิ์สิทธิ์ที่ถือปฏิบัติในการพระราชพิธี อีกทั้งเนื้อความในโองการแช่งน้ำนี้มีการกล่าวถึงพระนามสมเด็จพระรามาธิบดี ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นพระนามของพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา จึงไม่น่าจะมีผู้คิดดัดแปลงแก้ไข ดังพระราชโองการของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อแรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พ.ศ. ๒๓๙๔ ว่า “…(สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์) ได้กราบทูลพระกรุณาว่า คำแช่งน้ำพระพิพัฒน์ที่พราหมณ์อ่านนั้น ออกพระนามสมเด็จพระรามาธิบดีอยู่ แล้วแต่จะโปรดเกล้าฯ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สั่งว่า อย่าให้เปลี่ยนเลย คงไว้ตามเดิม ด้วยคำแช่งนี้เป็นคำของเก่า สำหรับกรุงเทพฯ ให้ยืนอยู่ตามชื่อศรีอยุธยาที่อาลักษณ์อ่านนั้นเป็นของใหม่ ควรจะเปลี่ยนพระนามตามแผ่นดินปัจจุบัน…”
                   ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (เถลิงสงกรานต์) และพระราชพิธีศรีสัจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเข้าด้วยกัน เรียกว่า พระราชพิธีตรุษสงกรานต์ ซึ่งเริ่มจากวันที่ ๒๔ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายน โดยถือเอาวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ และพระองค์มีพระราชวินิจฉัยให้แก้ไขดัดแปลงโองการแช่งน้ำหลายประการ
                   การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยายกเลิกไปเมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์ ก็มิได้มีพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา คณะรัฐมนตรีเพียงแต่กล่าวคำปฏิญาณตนที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
                   จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ รัฐบาลมีนโยบายฟื้นฟูพระราชพิธีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผนวกพระราชพิธีนี้ในพระราชพิธีพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีแก่ทหารตำรวจผู้ปราบปรามจลาจล ซึ่งจะกระทำทุกสองปีหรือสามปี ส่วนโองการแช่งน้ำที่ใช้ในปัจจุบัน สำนักพระราชวังได้ตัดทอนและดัดแปลงแก้ไขจากของเดิมให้เนื้อความเหมาะสมกับสมัยปัจจุบันยิ่งขึ้น
                   การตรวจสอบชำระวรรณคดีลิลิตโองการแช่งน้ำในครั้งนี้ ต้นฉบับที่นำมาตรวจสอบ เป็นสมุดไทย อักษรไทย จำนวนแปดฉบับ ซึ่งทั้งหมดนี้เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ พิจารณาตามลักษณะตัวอักษรและทะเบียนประวัติสมุดไทยเหล่านี้แล้ว ปรากฏว่า ทั้งหมดเป็นฉบับที่คัดลอกในสมัยรัตนโกสินทร์ เนื้อความถ้อยคำไม่มีที่แตกต่างกันเท่าใดนัก นอกจากอักขรวิธีปลีกย่อยตามความนิยมของอาลักษณ์แต่ละคน ถ้อยคำหรือเนื้อความตอนใดที่แตกต่างกัน ก็ได้พิจารณาตามหลักภาษาไทย และค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดีประกอบ แล้วจึงเลือกใช้คำที่น่าเชื่อได้ว่าเป็นคำที่ถูกต้องมาแต่เดิม ถ้อยคำหรือเนื้อความที่ต่างไปจากต้นฉบับที่ใช้ในการตรวจสอบครั้งนี้ จะคงมีเชิงอรรถไว้ และพยายามรักษาอักขรวิธีให้ใกล้เคียงของเดิมในสมุดไทยมากที่สุด คำใดที่ลักลั่นกันหรือแน่ใจว่าเป็นความผิดพลาดเนื่องมาจากการคัดลอก ก็ได้แก้ไขใหม่ให้ถูกต้อง เช่น คำว่า เจ็ต-เจ็ด กัน-กัลป์ นอกจากนี้ คำที่ใช้อักษร ฃ และ ฅ ได้เปลี่ยนเป็น ข และ ค ทั้งหมด
           แม้ว่าผู้ตรวจสอบจะได้ใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวอย่างระมัดระวังแล้ว ก็คาดว่า จะยังมีข้อผิดพลาดขาดตกบกพร่องอยู่บ้าง เนื่องจากต้นฉบับสมุดไทยทั้งหมดที่มีอยู่เป็นฉบับคัดลอกในสมัยหลังทั้งสิ้น เนื้อความและการจัดเรียงบรรทัดวรรคตอนแทบไม่ต่างกันเลย เข้าใจว่า สมุดไทยเหล่านี้คงจะใช้คัดลอกวนเวียนกันมา ลักษณะดังกล่าวทำให้ไม่สามารถตรวจสอบข้อความที่คิดว่าน่าจะผิดหรือตกหล่น รวมทั้งไม่ช่วยขจัดปัญหาให้ศึกษาฉันทลักษณ์ของโคลงห้าได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น