ตำราไตรลักษณะญาณ (ยามสามตา)

ตำราไตรลักษณะญาณ (ยามสามตา)

                ผมได้นำเอาตำราไตรลักษณะญาณ หรือที่เรารู้จักกันในนาม ยามสามตาเป็นการนับยามชอบเวลางาม มาใช้ทำนายพยากรณ์สิ่งต่างๆ ทั้งในตำราอี้จิงก็มีการทำนายลักษณะนี้อยู่ด้วยกันหลายแบบ การทำนายสามเหรียญแบบอี้จิง การจับยามแบบอี้จิง ผมศึกษาตำราไตรลักษณะญาณ ของ ม.ร.โมโรฬาร์ ป.ร. และ ยามสามตาพยากรณ์ของท่านพระครูเทพวัดจอมทอง จังหวัดธนบุรี ที่เขียนเป็นกาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ แต่งโดยพระสมุห์


ตำนานตำราพระไตรลักษณะญาณ

                ตำราไตรลักษณะญาณ ฤาตรีเนตรที่เรียกขานกันมา  เป็นฉบับที่สืบเนื่องมาแต่ฉบับพระพิมลธรรม พระราชาคณะวัดระฆัง ซึ่งเคยได้จับยามถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้า ดังปรากฎในพงศาวดารอยุธยาในสมัยไทยรบกับพม่า ครั้งเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เล็ก) เป็นแม่ทัพ และพระยาสีหราชเดโชยะทิปะเป็นแม้ทัพหน้าต้องอุบายข้าศึกล้อมจับเอาพระยาสีหราชเดโชไปขังไว้ สมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบแล้วเสียพระทัยเป็นอันมาก จึงโปรดเกล้าฯให้พระพิมลธรรมจับยามดู พระพิมลธรรมตรวจยามแล้วถวายพระพรว่า ซึ่งพระยาสีหราชเดโชถูกข้าศึกจับได้นั้นก็จริง แต่ทะว่าบัดนี้แก้ตัวออกได้ พ้นจากอำนาจข้าศึกแล้ว กลับได้ชัยชนะแลได้ลาภเป็นอันมากอีก พระราชสมภารเจ้าอย่าทรงพระวิตกเสียพระทัยเลย ในยามนี้หาอันตรายมิได้เป็นแท้ดังนี้ ในตอนนั้นเองก็มีใบมาบอกราชการกองทัพซ้ำลงมาถวายอีก มีความสมจริงดังพระพิมลถวาย จึงกรุณาโปรดเกล้าได้ถวายไตรจีวรแดงเทศไตรหนึ่งเป็นบำเหน็ดแก่พระพิมลธรรม
                ตำหรับนี้ได้คัดลอกต่อๆกันมาจนต่อแต่พระครูเทพวัดจอมทอง จังหวัดธนบุรี ในตอนนี้ได้เกิดการศักดิ์สิทธิ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ท่านพระครูเทพองค์นี้ได้ถวายพยากร์แดพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ คือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังทรงอิศริยยศเป็นต่างกรมว่า ได้เสด็จเรือพระที่นั่งไปทางนั้น เสด็จเข้าไปนมัสการพระครูเทพ เพื่อจะให้พยากรณ์ถึงลักษณะพระชะตา พระครูเทพจอมทองได้ถวายพยากรณ์ว่าในภายภาคหน้ามหาบพิตรจะได้เสวยราชสมบัติกอปด้วยพระราชกฤษฎาเดชาภินิหารเป็นอันมาก จึงทรงสัญญาว่าถ้าสมจริงดังคำที่พระผู้เป็นเจ้าพยากรณ์แล้ว จะเอาทองคำมาปิดปาก และสร้างพระอารามถวายให้งดงาม ครั้นภายหลังเมื่อได้ครองศิริราชแล้ว จึงโปรดเกล้าให้ช่างจัดการปฏิสังขรณ์พระอารามนั้นขึ้นใหม่ กับพระราชทานทองคำ ไปปิดปากพระครูเทพ ตามพระราชดำรัสทรงสัญญาไว้แต่ก่อนนี้
                อันว่าผมได้สดับมาในตำราไตรลักษณะญาณ ฉบับของ ม.ป. โมโรฬาร์ ป.ร. ซึ่งมีความเห็นตรงกับผมว่า หากจักใช้ตำรานี้ให้ศักดิ์สิทธิ์แล้วไซร้อาศัยเพียงการนำยามและรู้คำทำนายมีอาจเจนจริงตามธรรมได้ จึงควรให้ตำราจันทกะสุริยะกะลาประกอบเป็นพี่เลี้ยงไปด้วย ลำพังแค่ตำราจันทกะสุริยะกะลาก็มีผู้ชมเชยมากแล้ว เนื่องมาจากจันทกะสุริยะกะลามีภาษีอันมากกว่าตำราอื่นๆ เป็นวิธีกำหนดด้วยลมปราณอันบังเกิดแต่ฆานะประสาทของเราเองเป็นทำนองวิปัสนาญาณอย่างอานาปานุสสติ ถ้าผมมีเวลาว่างมากๆจะเพียรเขียนให้มาอ่านกันเป็นความรู้


ตำราพระไตรลักษณะญาณ
                              ๑. ทุกขัง.เป็นทุกข์ วนเวียน (ปฐมบุรุษ)
                               ๒.อนิจจัง.ไม่เที่ยง ไม่จริง (ทุติยบุรุษ)
                               ๓. อนัตตา.สูญ คือ เที่ยง (ตติยบุรุษ)
                                ประกอบไตรกาลดังนี้
                                ๓. อดีต,กาลที่ล่วงมาแล้ว (อนัตตา)
                                ๑. ปัจจุบัน,กาลที่เป็นอยู่เฉพาะหน้า (ทุกขัง)
                                ๒. อนาคต, กาลที่จะดำเนินต่อไปภายหน้า (อนิจจัง)

ลักษณะการนับ และ การให้ผลดังนี้
                                ๓. ไม่มีผล  (อดีต)
                                ๑.  มีผล  (ปัจุบัน)
                                ๒.  จะเกิดผล (อนาคต)
                                ๓. ยิ่ง     ๓. รับรอง   ๓. จริง    ๓. สูญ
                                ๑. กลาง  ๑. ภาคเสธ  ๑.ก่ำกึ่ง  ๑. ได้
                                ๒. หย่อน ๒. ปฏิเสธ   ๒. ไม่จริง ๒. ไม่พ้น




มาตราอย่างโบราณนับ
                                 ปีหนึ่ง                ๑๒                 เดือน
                                 เดือนหนึ่ง           ๓๐,๒๙           วัน
                                 วันหนึ่ง               ๘                  ยาม
                                  ยามหนึ่ง             ๓                  นาฬิกา
                                 นาฬิกาหนึ่ง         ๔                  บาท
                                 บาทหนึ่ง             ๔                  นาที
                                  นาทีหนึ่ง             ๑๕                เพ็ชร์นาที
                                  เพ็ชร์นาทีหนึ่ง       ๖                  ปราณ
                                  ปราณหนึ่งมี          ๑๐                อักษร
                              วันหนึ่งนั้นแปดยามยำ        กลางวันท่านกำ-
                               หนดไว้สี่ยามมี
                               กลางคืนก็นับยามสี่           วันกับราตรี
                               จึ่งเปนแปดยามตามใช้
                               ยามหนึ่งสามนาลิกาไซร้     นาลิกาท่านใช้
                               กลางวันเรียกว่าโมงนา
                               กลางคืนเรียกว่าทุ่มหนา      นาลิกาหนึ่งรา
                               ได้สิบบาดท่านบอกไว้
                               บาทหนึ่งสี่นาฑีไทย           นาฑีหนึ่งได้
                               สิบห้าเพชะนาฑี
                               เพชะนาฑีหนึ่งนี้                หกปราณด้วยดี
                              ปราณหนึ่งสิบอักษรไซร้


มาตรานับวัน เวลา นักษัตร ขึ้น-แรม ปี
หนึ่งโสดปีตามชื่อมี ….. อยู่สิบสองปี ….. นับชวดเป็นต้นไปนา
ปีชวดเป็นชื่อหนูนา ….. ปีฉลูโคนา ….. ปีขานเป็นเสือสัตว์ไพร
ปีเถาะเป็นกระต่ายไซร้ ….. มโรงงูใหญ่ ….. มเส็งงูเล็กแลนา
มะเมียเป็นชื่อมิ่งม้า ….. มแมแพะหนา …..วอกว่าลิงระกาไก่
จอสุนักข์ …… กุญหมูไซร้ …… สิบสองปีได้ ….. โดยนิยมดังกล่าวมา
ปีหนึ่งสิบสองเดือนหนา ….. สิบสามบ้างรา ….. นับเดือนห้าเป็นต้นไป
แล้วเดือนหกเดือนเจ็ดไซร้ ….. เดือนแปดเก้าไป …… เดือนสิบเดือนสิบเอ็ดมา
เดือนสิบสองเดือนอ้ายหนา …… เดือนญี่สามมา ….. เดือนสี่เป็นสิบสองไป
ปีใดอธิกมาศใส่ ….. เดือนเข้าอีกไซร้ ….. ปีนั้น ….. สิบสามเดือนนา
 เดือนหนึ่งนั้นสองปักษ์หนา …… คือข้างขึ้นมา …… ข้างแรมเป็น ….. สองปักษ์ไป
ข้างขึ้นสิบห้าวันได้
 ….. ข้างแรมท่านใช้ …… สิบห้า ….. สิบสี่วันบ้าง                                เดือนใดเป็นเดือนขาดค้าง ….. ข้างแรมท่านวาง ….. สิบสี่วันตามวิไสย
เพราะดังนี้เดือนถ้วนได้ ….. วันสามสิบไป ….. เดือนขาดยี่สิบเก้าวัน
เดือนหกถ้วน เดือนห้านั้น ….. เป็นเดือนขาดพลัน ….. ทั้งสิบสองเดือนเปลี่ยนไป
จึงมีเดือนถ้วนหกเดือนได้ ….. เดือนขาดเล่าไซร้ ….. ก็ได้หกเดือนเหมือนกัน
ถ้ามีอธิกมาศนั้น ….. เดือนแปดสองปัน ….. เดือนถ้วนจึ่งเป็นเจ็ดนา
วันมีชื่อเจ็ดวันหนา ….. วันอาทิตย์มา ….. วันจันทร์ วันอังคารนี้
วันพุฒวันพฤหัสบดี …… วันศุกร์ศักดิ์ศรี ….. วันเสาร์ครบ ….. เสร็จเจ็ดวัน
กลางวันกลางคืนควบกัน ….. ท่านนับเป็นวัน ….. หนึ่งควรจะใส่ใจจำ
วันหนึ่งนั้นแปดยามย่ำ ….. กลางวันท่านกำ ….. หนดไว้ว่าสี่ยามมี
 กลางคืนก็นับยามสี่ ….. วันกับราตรี …… จึงเป็นแปดยามตามใช้
 ยามหนึ่งสามนาลิกาไซร้ …. นาลิกา … ท่านใช้ …. กลางวันเรียกว่าโมงนา
กลางคืนเรียกว่าทุ่มหนา ….. นาลิกาหนึ่งรา ….. ได้สิบบาด ….. ท่านบอกไว้
บาดหนึ่งสี่นาทีไทย ….. นาทีหนึ่งได้ …..สิบห้าเพ็ชชะนาที
เพ็ชชะนาทีหนึ่งนี้ …… หกปราณด้วยดี …… ปราณหนึ่งสิบอักษรไซร้
ปีหนึ่งมีนับวันได้ ….. สามร้อยวันไป …… กับห้าสิบสี่วันวาร
ปีใดท่านเพิ่มวันกาล ….. เป็นอธิกวาร …… เพิ่มเข้าอีกวันหนึ่งนา
 ปีนั้นวันสามร้อย หนา ….. กับห้าสิบห้า ….. วันตามที่โลกยินยล                             
ถ้าปีอธิกมาศปน …… เดือนแปดสองหน ….. ปีนั้นมีวันมากรา
 นับวันได้ สามร้อยหนา ….. กับแปดสิบห้า ….. วันยิ่งตามโหรนิยมไว้.



ยามกลางวัน
นับแต่ย่ำรุ่ง โดยนาฬิกาเข็มสั้น
                       ช. ๗.๑/๒. ม.      ยาม   สุริชะ ๑
                       ช. ๑/๒.๙. ม.       ยาม   ศุกกระ ๖
                       ช. ๑๐.๑/๒. ม.     ยาม   พุทฒะ ๔
                      ช. ๑/๒.๑๒. ม.     ยาม   จันเทา ๒ เทียงวัน
                       บ. ๑.๑/๒. ม.       ยาม    เสารี ๗
                       บ. ๑/๒.๓. ม.       ยาม   ครู ๕
                       บ. ๔.๑/๒. ม.       ยาม   ภุมมะ ๓
                       บ. ๑/๒.๖. ม.       ยาม    สุริชะ ๑ (ย่ำค่ำ)




ยามกลางคืน
นับแต่ย่ำค่ำ โดยนาฬิกาเข็มสั้น
                   ค. ๗.๑/๒. ท.      ยาม   ระวิ ๑
                   ค. ๑/๒.๙. ท.       ยาม   ชีโว ๕ ยามหนึ่ง
                   ค. ๑๐.๑/๒. ท.     ยาม   ศะศิ ๒
                     ค. ๑/๒.๑๒. ท.     ยาม   ศุกโกร ๖ เที่ยคืน
                     ค. ๑.๑/๒. ท.       ยาม    ภุมโม ๓
                     ค. ๑/๒.๓. ท.       ยาม   โสโร ๗ ยามสาม
                      ค. ๔.๑/๒. ท.       ยาม   พุฒโต ๔
                      ค. ๑/๒.๖. ท.       ยาม   ระวิ ๑ (ย่ำรุ่ง)



พระไตรลักษณะญาณ (ฉบับ กาพย์ฉบัง ๑๖)
จะกล่าวตำหรับพระไตรลักษณ์        แจกแจงประจักษ์       ให้แจ้งแก่เหล่านระชน
เดือนขึ้นอาทิตย์นับวน                   หาจันทร์มณฑล         ทักษิณาวัตรโดยคลา
ข้างแรมนั้นนับไปหา                     อังคารโดยตรา          เป็นอุตราวัตร์โดยหมาย
ผิจะพิเคราะห์ของหาย                   เศษระวิทาย              ว่าจักได้คืนมั่นคง
แม้เศษต้องจันทร์จำนง                  ทายตามประสงค์       ว่าได้ด้วยยากทรมา
ถ้าเศษอังคารโดยตรา                   ของหายนั้นหนา         จะได้โดยเร็วบัดใจ
ถ้าถามว่าใครลักไป                       เศษอาทิตย์ไข          ว่าหญิงเรือนเดียวลักกัน
ส้อนไว้ริมแม่น้ำนั้น                       ถ้าได้เศษจันทร์         ว่าชายบัณฑิตลักไป
ส้อนไว้ในบ้านปิดไว้                      มิได้เอาไป               จากฐานที่อยู่ครา
ถ้าเศษอังคารนั้นนา                       ในยามท่านว่า           ผู้หญิงดำแดงลักไป
เอาหินทับซุ่มซ่อนไว้                     แทบต้นไม้ใหญ่         อยู่ใกล้แม่น้ำนัทที
ผิว่าของหายตามมี                        ผู้ร้ายลักหนี              ไปไว้ทิศสถิตย์บูรพา
อิสาณอุตตรเรทิสา                        ของนั้นทายว่า           อยู่ทิศพายัพโดยตรง
เศษจันทร์ทายตามประสงค์             ของหายมั่นคง           อยู่อาคเณหรดี
มีผู้ชักมาโดยมี                             ซึ่งของหายนี้             จะได้ดังใจปรารถนา
ถ้าเศษอังคารโดยตรา                    อยู่ประจิมทิสา           พายัพเอาไปไกลกัน
ผิถามว่าผู้ลักนั้น                            ขาวเหลืองสำคัญ        รูปทรงประมาณปูนใด
เศษอาทิตย์ดำไซร้                        อยู่ด้วยกันในเรือน       แล้วมาลักกันเอง
เศษจันทร์กล่าวเพลง                      ผู้ชายชะเลง              รูปขาวมาลักเอาไป
ถ้าเศษอังคารผู้ใหญ่                       เนื้อดำอยู่ใน             วงษ์เดียวมาลักของกัน
จะได้ฤๅมิได้ไฉนนั้น                       ถ้าได้เศษวัน              อาทิตย์จะพลันได้คืนมา
ถ้าได้เศษจันทร์นั้นมา                     จะได้นานได้มา          หาไม่จะมีผู้บอกแสดง
ถ้าเศษอังคารกล่าวแถลง                 ท่านทายแจ้งแจง        ว่าของบ่กลับสูญไป
คำทำนายส่วนอื่นๆผมขอไม่เขียน  แต่จะเขียนฉบับถอดความและฉบับอื่นแทนนะคับ คงไม่ว่ากันนะคับ 
ยามสามตาพยากรณ์ ฉบับถอดความจาก กาพย์ฉบัง ๑๖
เมื่อจะดูยามสามตานี้ ถ้าเดือนข้างขึ้น ให้นับแต่อาทิตย์มาหาจันทร์
ถ้าเดือนข้างแรม ให้นับแต่จันทร์มาหาอังคาร เมื่อได้เศษเท่าใดแล้ว
ให้ทายตามเศษนั้น ๆ ดังนี้ ฯ
ถ้าดูของหาย ถ้าเศษ ๑ คนในเรือนเอาไปซ่อนไว้
ให้หาจงดี ถ้าเศษ ๒ คนมาสำนักอาศัย ลักไปซ่อนไว้หนบูรพา
แลทักษิณ จะมีพี้น้องเอามาคืนให้ ถ้าเศษ ๓ ของนั้นอยู่ทิศประจิม
และพายัพ จะได้คืนแล ฯ
ถ้าเขาถามว่า ผู้ลักไปนั้นหญิงหรือชาย ถ้าเศษ ๑
ว่าผู้หญิงเรือนเดียวกัน ลักไปซ่อนไว้ แทบฝั่งน้ำ และประตูใหญ่
ถ้าเศษ ๒ ทายว่า ผู้ชายบัณฑิตลักไปไว้แทบประตู เศษ ๓
ผู้ใหญ่ต่างเรือนลักไป แล ฯ
ถ้าดูตาย  ถ้าเศษ ๑ ว่ามิตาย มีผู้เลี้ยงรักษา
ถ้าเศษ ๒ มิเป็นไร มีผู้จะเลี้ยงรักษา แต่ว่าจะได้ลำบาก
ถ้าเศษ ๓ ว่าตายจริง แล ฯ
ถ้าถามว่าศึกจะมาหรือไม่  ถ้าเศษ ๑ ว่ามิมา
ถ้าเศษ ๒ มาถึงครึ่งทาง ถ้าเศษ ๓ จะมาถึงพลัน แล ฯ
ถ้าถามว่าผู้ใดจะมา  ถ้าเศษ ๑ ตัวพระยามาเอง
ถ้าเศษ ๒ มาแต่เสนาผู้ใหญ่ มากึ่งหนทางแล้วกลับไป
ถ้าเศษ ๓ มาแต่นายทหารผู้ใหญ่ แล ฯ
ถ้าถามว่ามาถึงวันใด  ถ้าเศษ ๑ มาถึงวันนี้
ถ้าเศษ ๔,,,๗ ไม่มา ถ้าเศษ ๒ จะมาถึงใน ๑-๒ วัน
ถ้าเศษ ๓ มามิมาเท่ากัน แล ฯ
ถ้าถามว่าแพ้หรือชนะ  ถ้าเศษ ๑ หนีเรา
ถ้าเศษ ๒ แรงเท่ากับ ถ้าเศษ ๓ เขามาแรงกว่าเรา
ตั้งทัพอยู่ทิศพายัพ สองวันจึงจะชนะ แล ฯ
ถ้าถามว่าไปทัพ จะได้รบหรือไม่ได้รบ
ถ้าเศษ ๑ มิได้รบ ถ้าเศษ ๒ ได้รบสักหน่อยหนึ่ง
ถ้าเศษ ๓ ตั้งทัพรบ แล ฯ
ถ้าถามว่าจะได้หรือไม่ได้  ถ้าเศษ ๑
ว่าจะได้ต้นทาง จะเอาได้หลาย ถ้าเศษ ๒ ว่ามิได้
ถ้าเศษ ๓ จะได้ภายนอกเมือง แล ฯ
ถ้าถามว่าจะได้เชลยหรือมิได้  ถ้าเศษ ๑
ว่าจะได้ ถ้าเศษ ๒ ได้แต่มนตรี และนางเทวี
ถ้าเศษ ๓ จะได้ขุนนางผู้ใหญ่ แล ฯ
ถ้าถามว่ามีที่ไปจะมาช้าหรือมาเร็ว  ถ้าเศษ ๑
ว่ายังมิมา ถ้าเศษ ๒ เพิ่งจะมา ถ้าเศษ ๓ มาถึงในเดี๋ยวนี้
ถ้าวันนี้ไม่มาอีก ๓ วันหรือ ๗ วัน จะมา แล ฯ
ถ้าถามว่าจะไปบกหรือไปเรือดี  ถ้าเศษ ๑ ไปบกดี
ถ้าเศษ ๒ ไปเรือแต่พอคุ้มตัว ถ้าเศษ ๓ ไปบกมีลาภสองประการ
แต่ไม่มีลาภต่อหน้า แล ฯ
ถ้าถามว่าไปรบโจรจะแพ้หรือชนะ  ถ้าเศษ ๑ ว่าเราชนะ
ถ้าเศษ ๒ แรงเท่ากัน ถ้าเศษ ๓ โจรแรงกว่าเรา แล ฯ
             ยามสามตาพยากรณ์ ฉบับ กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ 
              ท่านพระครูเทพวัดจอมทอง จังหวัดธนบุรี แต่งโดยพระสมุห์ 
 ท่านท้าวตรีเนตร เล็งญาณทราบเหตุ แต่ยามสามตา
คือยามทิพยยนต์ ยามนี้วิเศษ ท่านท้าวเทเวศน์ หยั่งรู้เหตุผล
ผู้ใดได้พบ ยามเจ้าจุมพล อาจเข้าใจคน รู้ทุกประการ  

  เดือนแรมบ่ผิด ให้นับอาทิตย์ มาหาอังคาร เวียนไปตามค่ำ
แล้วจึงนับยาม ชอบเวลางาม จึงทายอย่าคลาด  

  ถ้าเดือนขึ้นไซร้ นับอาทิตย์ไปหา จันทกลา นับตามค่ำแล้ว
จึงนับยามมาให้ชอบเวลา แม่นแล้วจึงทาย  

  กำลังอังคาร ท่านท้าวมัฆวาน บอกไว้โดยหมาย จันทร์ปลอดมัธยม
นิคมอุบาย ยามเจ้าฤาสาย เที่ยงแท้สัตย์จริง  

  อาทิตย์ คือสีใส กำหนดลงไว้ อย่าได้ยุ่งยิ่ง ตรองให้เห็นเงื่อน
อย่าเชือนประวิง ถูกแน่แท้จริง อย่ากริ่งสงสัย

  ถ้าดูสู้กัน  เล็งดูยามนั้น จะเป็นฉันใด ถ้ากำอยู่หลัง
เบื้องหน้ายามใส ว่าเขาจักได้ เราแพ้เสียตน  

  ถ้ากำอยู่หน้า ยามใสโสภา อยู่หลังเป็นต้น เขาพ่ายแพ้กุมเอา  
  ถ้าข้าศึกมา  ถ้ากำอยู่หน้า ศึกมาถึงเรา ถ้าใสอยู่หน้า
มาแล้วกลับเล่า หน้าปลอดจักเปล่า ถ้าเจ็บอย่าฟัง  

  คนมากเท่าใด  ถ้าหน้ากำไซร้ คนมากโดยหวัง ถ้าว่าหน้าใส
คนน้อยอย่าฟัง ถ้าปลอดอย่าหวัง หาไม่สักคน  

  คนหาญหรือขลาด  หน้ากำสามารถ เรี่ยวแรงแสนกล หน้าใสพอดี
บ่มีฤทธิรน หน้าปลอดอำพน ว่าชายเหมือนหญิง  

  ถืออันใดมา  หน้ากำโสกา คือศาสตราจริง หน้าใสถือไม้
มาได้สักสิ่ง หน้าปลอดประวิง ว่าเดินเปล่ามา

  ว่าสูงหรือต่ำ  หน้ากำควรจำ ว่าสูงโสภา หน้าใสปานกลาง
ปลอดต่ำ หนักหนา ทายตามเวลา ยามเจ้าไตรตรึงส์  

  ว่างามมิงาม  หน้ากำอย่าขาม ว่างามบ่ถึง หน้าใสงามนัก
หน้าปลอดพอถึง ยามเจ้าไตรตรึงส์  

  ว่าหนุ่มหรือแก่  หน้ากำนั้นแล ว่าแก่ชรา หน้าใสกลางคน
ปลอดเด็กหนักหนา ประคินเวลา แม่นแล้วจึงทาย  

  คนผอม หรือพี  หน้ากำหมองศรี ว่าพีพ่วงกาย หน้าใสพอดี
ฉวีเฉิดฉาย หน้าปลอดเร่งทาย ว่าผอมเสียศรี  

  ดำแดงหรือขาว  หน้ากำควรกล่าว ว่าดำอัปรีย์ หน้าใสดำแดง
เป็นแสงมีศรี หน้าปลอดขาวดี เที่ยงแท้โดยถวิล  

  ต้นลงหรือปลายลง  หน้ากำเร่งทาย ว่าปลายลงดิน หน้าใสปลายขึ้น
ต้นลงอาจิณ หน้าปลอดเร่งถวิล ว่านอนราบลง  

  สุกหรือดิบห่าม  หน้ากำอย่าขาม ว่าสุกโดยตรง หน้าใสห่ามแท้
ทายแต่โดยตรง หน้าปลอดเร่งปลง ว่าดิบหนักหนา  

  ว่าหญิงหรือชาย  หนำกำเร่งทาย ว่าชายละนา หน้าใสบัณฑิต
พึงพิศโสภา หน้าปลอดทายว่า เป็นหญิงโสภาโดยหมาย  

  เต็มหรือพร่องแห้ง  หน้ากำควรแถลง ว่าเต็มบ่มิคลา หน้าใสมิเต็ม
งวดเข้มจงทาย หน้าปลอดกลับกลาย ว่าแห้งห่อนมี  

  ขุนนางหรือไพร่  หน้ากำควรไข ว่าคุณมีส หน้าใสโสภา
วาสนาพอดี หน้าปลอดกาลี เข็ญใจหนักหนา  

  ไข้เป็นหรือตาย  หน้ากำเร่งทาย ว่าตาย บ่ คลา หน้าใสว่าไข้
ลำบากหนักหนา หน้าปลอดทายว่า ไข้นั้น บ่ ตาย  

  ท่านรักหรือชัง  หน้ากำท่านหวัง รักดังลูกชาย
หน้าใสมิรักมิชังโดยหมาย หน้าปลอดเร่งทาย ว่าชังหนักหนา  

  หน้าจืดหรือหวาน  หน้ากำเปรียบปาน น้ำตาลโอชา
หน้าใสรสหวาน ประมาณรสา หน้าปลอดทายว่า จืดชืดมิดี

  หน้าขม หรือเฝื่อนฝาด  หน้ากำสามารถ ว่าขมแสนทวี
หน้าใสทายว่า ฝาดนักมิดี หน้าปลอดตรงที่ ว่าจืดจริงนา  

  ว่าอยู่ หรือไป  ถ้าหน้ากำไซร้ ว่าไป บ่ ช้า หน้าใสแม้นไป
กลางทางกลับมา หน้าปลอดทายว่า ว่าแต่จะไป  

  สี่ตีนหรือสอง  หน้ากำควรสนอง ว่าสีตีนแท้ หน้าใสสองตีน
ประคีนจงแน่ หน้าปลอดจงแก้ว่าตีน บ่ มี  

  แม้นดูของหาย  หน้ากำเร่งทาย ว่าได้บัดนี้ หน้าใสแม้นได้
ช้าเจียนขวบปี หน้าปลอดหน่ายหนี บ่ ได้เลยนา  

  แม้นดูปลูกเรือน  นับยามอย่าเชือน เร่งทายอย่าคลา
แม้กำอยู่หลัง ยามใสอยู่หน้า ว่าดีหนักหนา ถาวรมีศรี
  หน้ากำนำพา คือ กำอยู่หน้า ท่านว่ามิดี
แม่เรือนจะตาย วอดวายเป็นผี หน้าปลอดมิดี บอกให้รู้นา  

  ว่าคว่ำหรือหงาย  หน้ากำเร่งทาย ว่าคว่ำ บ่ คลา
หน้าใสหงายแท้ นอนแผ่อยู่นา หน้าปลอดทายว่า คะแคงแฝงตน  

  ยามนี้วิเศษ ท่านท้าวตรีเนตร หยั่งรู้เหตุผล
คือเนตรท่านเอง แลเล็งทิพยยนต์ สมเด็จจุมพล ให้ไว้เราทาย  

  ผู้ใดได้พบ ยามเจ้าไตรภพ ร่ำเรียนกฎหมาย
เดือนขึ้นเดือนลง วันคืนเช้าสาย ให้แม่นแล้วทายอย่าคลาดเวลา  

  พระอาทิตย์ฤทธิไกร คือเนตรท้าวไท ท่านท้าวพันตา
อยู่ตรวนลาด พระบาทภูวนา ดูงามหนักหนา รุ่งเรืองเฉิดฉัน  

  ครั้นจักมีเหตุ ร้อนอาสน์ตรีเนตร ตรึกเหตุด้วยพลัน
เล็งแลทั่วโลก ทุกทิศหฤหรรษ์ พระองค์ทรงธรรม์ เล็งตาทิพย์พราย  

  ท่านให้นับยาม ครั้นรุ่งอร่าม สวยงามแก่งาย
แม้ตะวันเที่ยง เฉวียงวันฉาย สายบ่ายแล้ว บ่ คลาย ฝ่ายค่ำสุริยัน  

  ค่ำเฒ่าเข้านอน เด็กหลับกลับผ่อน ให้นอนเงียบพลัน
เที่ยงคืนยามสาม ล่วงเข้าไก่ขัน ใกล้สุริยัน สุวรรณเรืองรอง  

  ตำรานี้นะ ของท่านคุณพระ ครูเทพจอมทอง
มาให้สมุห์วาสน์ สามารถท่องจำ ไว้สืบสนอง บทเบื้องต่อบรรพ์  

  ข้าพระสมุห์ คิดอ่านทำนุ บำรุงเสกสรร
เป็นกลอนกาพย์สาส์น วิลาสนี้พลัน ยี่สิบแปดบรรพ์ เป็นฉันท์บรรยาย  


ตำราจันทกะสุริยะกะลา

                     ต่อเนื่องจากด้านบน ผมได้กล่าวไว้ถึง ตำราจันทกะสุริยะกะลา ซึ่งภายในตำรามีหลักการดังนี้
การกำหนดลมปราณ
            การกำหนดลมปราณ หรือ การกำหนดลมหายใจเข้าออก ซึ่งมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สุริย์กาลา จันทกาลา ลมทางจมูกรูจมูกขวา เรียกว่า ลมสูริย์กาลา ลมทางรูจมูกซ้ายเรียกว่า ลมจันทกาลา
            วันจันทร์ วันพุธ วันพฤหัส วันศุกร์ เป็นวันที่ลมจันทกาลาคล่อง และ
            วันอาทิตย์ วันอังคาร วันเสาร์ เป็นวันที่ลมสูริย์กาลาคล่อง
            อันลมสูรย์กาลา จันทกาลานี้ มีประโยชน์มากมายนัก บรรดาคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญทางเวทย์มนต์ทั้งหลาย จำเป็นจะต้องเรียนรู้ไว้ อาจสามารถที่จะใช้ทำนายทายทักเหตุการณ์ต่างๆได้ แต่ในที่นี้จะกล่าวไว้ แต่เพียงวิธีออกยาตราเดินทาง หรือก่อนที่จะกระทำพิธีใดๆ พึงตรวจลมสูริย์ ลมจันทร์เสียให้สะดวกก่อนจึงค่อยทำ
            วิธีกำหนดลมสูริย์กาลา จันทกาลานั้นก็คือให้สูดลมหายใจเข้าออกทั้ง๒ ข้าง ถ้าเป็นวันประจำของลมจันทกาลา ลมจันทกาลาเดินคล่อง หรือถ้าเป็นวันประจำสูริย์กาลา ลมสูริย์กาลาคล่องอย่างนี้ท่านจัดว่า ดี ถ้าลมคล่องทั้งสองข้างท่านจัดว่าเสมอตัว แต่ถ้าหากวันประจำจันทกาลาแต่ลมสูริย์กาลาเดินคล่อง และภ้าหากเป็นวันประจำของสูริย์กาลา แต่ลมจันทกาลาเดินคล่องอย่างนี้ ท่านเรียกว่าลมเดินผิดทาง ไม่ดี
            ถ้าเห็นลมเดินผิดทาง ให้เอามือปิดรูจมูกข้างนั้นเสีย และให้ตั้งใจบริกรรม พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณหรือพระไตรสรณาคมก็ได้ สักครู่หนึ่งจึงทำดูใหม่จนเห็นว่าลมนั้นเดินถูกทาง แล้วจึงค่อยออกเดินทางหรือประกอบกิจใดๆ ที่พึงประสงค์ แต่ถ้าลมนั้นเดินคล่องเท่ากันสองข้าง ให้หยุดครู่หนึ่งก่อน แล้วทดลองทำดูใหม่ให้ลมเดินถูกทางจึงจะใช้ได้ โดยเฉพาะในการออกเดินทาง ให้พึงยึดข้างที่ลมคล่องไว้เป็นหลัก ถ้าลมคล่องข้างไหนให้ยกเท้าข้างนั้นก้าวออกไปก่อนจะบังเกิดความสวัสดีมีชัยแล 
                                    จบพระไตรลักษณะญาณ แต่เพียงเท่านี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น