แม่ซื้อ : เทวดาผู้ดูแลรักษาทารก

แม่ซื้อ  : เทวดาผู้ดูแลรักษาทารก

ยังจำได้ไหมถึงใครคนหนึ่ง? อ๋อ สำหรับคนภาคกลางนะครับ เรื่องนี้ พ่อซื้อแม่ซื้อ
             ในพจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถานระบุว่า แม่ซื้อ คือ เทวดาหรือผีที่เชื่อกันว่าเป็นผู้ดูแลรักษาทารก เทวดาหรือผี ซึ่งมีความหมายคอบคุมถึงอมุนษย์ คือบางแม่ซื้อเป็นเทวดา บางแม่ซื้อก็เป็นผี แม่ซื่อจะเข้ามาสถิตในบ้านที่มีเด็กอ่อน หรือเด็กทารกแรกเกิด โดยการสิงสถิตจะเข้ามาดูแลรักษาดูแลทารก เวลาจะชมเด็กที่น่ารักก็ให้ชมว่า “น่าเกลียดน่าชั่ง” มิเช่นนั้นแม่ซื้อจะรู้ว่าหน้าตาเด็กน่ารักจนอยากเอาไปอยู่ด้วย  กับยังมีการให้ผู้อื่นรับซื้อเด็กไป เพื่อให้ผีเข้าใจว่าแม้แต่แม่ยังไม่รัก ไม่อยากได้ไว้ ผู้ที่ซื้อเด็กจึงมีชื่อเรียกว่า แม่ซื้อ
            แม่ซื้อ ในลักษณะทั่วไปกล่าวว่าเป็นเทวดา คงคิดกันแล้วว่าคงสวยสดงดงาม แล้วถ้าเรียกว่าผีล่ะ คงจะจินตนาการกันว่าน่าเกลียดน่ากลัว แม่ซื้อไม่ได้น่าเกลียดอย่างที่หลายคนคิด แม่ซื้อทั้งเจ็ด มีที่สิงสถิตอยู่ในเมืองบน เมืองล่าง และกลางหน
            ตามความเชื่อว่าหากเด็กทารก คลอดให้นำรกเด็กไปฝั่งไว้ตามที่อยู่ของแม่ซื้อ จะทำให้แม่ซื้อรักใคร่ หากไม่เช่นนั้นแล้ว แม่ซื้อจะคอยหลอกหลอนทารกให้เจ็บไข้ได้ป่วย หรือเมื่อใดที่แม่ซื้อสิงสถิตจะสำแดงให้ทารกเจ็บป่วยตามลักษณะอาการของโรคแม่ซื้อ
  
จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ว่าด้วยโองการแม่ซื้อ
          จารึกที่มีเนื้อหาว่าด้วยโองการแม่ซื้อ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ มีทั้งหมด ๙ ตอน แต่ละตอนมีรายละเอียดต่างๆ กันดังนี้
          จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (โองการแม่ซื้อ ๑) เป็นจารึกบนแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยม มี ๓ แผ่นต่อเนื่องกัน เนื้อหาโดยรวมเป็นบทนำ มีบทไหว้ครู อธิบายที่มาที่ไปและความสำคัญของแม่ซื้อในเบื้องต้น เรียกว่า "สารเดชวิธีน้อย" สำหรับปัดพิษไข้จากแม่ซื้ออันจะเกิดแก่เด็กที่คลอดจากครรภ์มารดาได้ ๓ วัน โดยในส่วนของบทไหว้ครูนั้น มีการอัญเชิญเทพได้แก่พระนารายณ์ พระอิศวร พระอุมา พระพาย พระเพลิง พระกาฬ พระพรหม พระยม พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอินทร์ รวม ๑๒ องค์ ให้มาสถิตและประสิทธิ์ประสาทพร
จากนั้นกล่าวถึงรายชื่อของแม่ซื้อประจำวันเกิด ได้แก่


แม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันอาทิตย์ ชื่อ นางวิจิตรนาวรรณ

แม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันจันทร์ ชื่อ นางวัณณานงคราญ

แม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันอังคาร ชื่อ นางยักษ์บริสุทธิ์

แม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันพุธ ชื่อ นางสามลทัศ

แม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันพฤหัสบดี ชื่อ นางกาโลทุก

แม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันศุกร์ ชื่อ นางยักษ์นงเยาว์

แม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันเสาร์ ชื่อ นางเอกาไลย

          แล้วอธิบายลักษณะของแม่ซื้อที่มีอิทธิฤทธิ์ต่างๆ กัน อันล้วนมีผลต่อความเจ็บป่วยของร่างกายในรูปแบบต่างๆ เช่น แม่ซื้อบางตนไปพันอยู่ในไส้ ทำให้เจ็บปวดครวญคราง บางตนไปขวางอยู่ที่สะดือ ทำให้ท้องอืด บางตนไปอยู่ในศีรษะ ทำให้เวียนหน้าอาเจียน เป็นต้น
          ตอนท้ายเรียกแม่ซื้อทั้งหมดให้มากินของเซ่นไหว้ อันได้แก่ อาหารคาวหวานและสุรา แล้ววอนขอให้กินเสียให้อิ่ม อิ่มแล้วรีบไปเสียยังที่อยู่ของตน อย่าอยู่หยอกเด็ก หรือแกล้งเด็กให้กลัวเลย คนที่อยู่ทางนี้จะเลี้ยงดูเด็กอย่างดี หากเป็นเด็กชายโตไปจะได้เป็นสงฆ์ หากเป็นเด็กหญิงจะได้เป็นชี มีคำกล่าวด้วยว่าได้ขอซื้อเด็กไว้แล้ว (เข้าใจว่าในที่นี้มีแม่ซื้ออยู่ ๒ คือแม่ซื้อที่เป็นผี และ แม่ซื้อที่เป็นคน แม่ซื้อที่เป็นคนจ่ายเบี้ยซื้อเด็กจากแม่ซื้อที่เป็นผี) ดังนั้นเด็กคนนี้ก็ไม่ใช่ลูกของแม่ซื้อ(ที่เป็นผี) หากแม่ซื้อรับเงินแล้ว อิ่มแล้ว ก็รีบไป อย่าได้อาลัย และให้เอาโรคต่างๆ กลับไปด้วย หากพ้น ๓ วันนี้ไปแล้ว เด็กจะรอด
          จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (โองการแม่ซื้อ ๒) เป็นจารึกบนแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยม มี ๓ แผ่นต่อเนื่องกัน เนื้อหาตอนนี้เป็นโองการ เรียกว่า "สารเดชวิธีใหญ่" สำหรับปัดพิษเสียแสลงลำบองราหู หรือพิษไข้ที่เกิดกับเด็กในช่วงเวลาต่างๆ คือมีไข้ขึ้นไข้สร่าง ออกอาการต่างๆ ไป ทั้งหนาวสั่น ชัก ผื่นขึ้น ท้องบวม ท้องเสีย ฯลฯ เนื้อหารวมๆ ของจารึกตอนที่ ๒ นี้ ไม่ได้กล่าวถึงตำรับยาสมุนไพร หากแต่กล่าวถึงพิธีกรรมไล่ผีที่มากระทำพิษไข้แก่เด็กด้วยอาการต่างๆ
          จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (โองการแม่ซื้อ ๑) และ จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (โองการแม่ซื้อ ๒) เป็นโองการกล่าวนำ ในเชิงพิธีกรรมเท่านั้น จารึกลำดับต่อไปตั้งแต่ จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (โองการแม่ซื้อ ๓) ไปจนถึง จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (โองการแม่ซื้อ ๙) จะเป็นการบอกที่มาของโรค อาการ และวิธีการรักษา ดังต่อไปนี้
          จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (โองการแม่ซื้อ ๓) เป็นจารึกบนแผ่นหินรูปวงรี จำนวน ๑ แผ่น มี ๑๘ บรรทัด เนื้อหาว่าด้วยโรคแม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันอาทิตย์ เด็กจะมีอาการเจ็บเนื้อเจ็บตัว กินข้าวหรือกินนมไม่ได้ มีวิธีรักษาทั้งแบบที่เป็นพิธีกรรมและวิธีการปรุงยา :
 พิธีกรรม
๏ใช้ดินสอพองผสมน้ำปั้นเป็นรูปแม่อุ้มลูก แล้วจึงบูชาด้วยดอกไม้ขาว ธูปเทียนอย่างละ ๕ ดอก ร่วมกับของหอมต่างๆ แล้วขับมนต์ "โอม นโมภควันปติทนิกามุกขัง ธรณิ ขิพลิปกาทพาลามุญจัยยะสะวาหะ ฯ โอมริทธิ ผิดผัดสวาหะ ฯ" ๓ จบ แล้วจึงนำรูปปั้นแม่อุ้มลูก ตลอดจนดอกไม้ธูปเทียนทั้งหมดนั้น ห่อด้วยใบไม้ ไปปักไว้ทางทิศตะวันออก ทำดังนี้ ๓ วัน หากไม่หายให้รักษาด้วยการปรุงยาสำหรับรมหรือทาตัวเด็กร่วมด้วย

ปรุงยา
ตำรับ ๑ ใช้เมล็ดพันธุ์ผักกาด ชานหมาก ขนแมว เส้นผมของคน ใบสะเดา น้ำมันจากโค ในปริมาณเท่าๆ กัน ประกอบเครื่องยาแล้วนำไปเผาเพื่อรมตัวเด็ก
ตำรับ ๒ ใช้กระดูกศีรษะของสุนัข เขากวาง คราบงูสิง กระเทียม น้ำมันจากโค ปริมาณเท่าๆ กัน ประกอบเครื่องยาแล้วนำไปเผาเพื่อรมตัวเด็ก
ตำรับ ๓ ใช้ใบพรหมี หรดาลประสะ แก่นจันทน์ ปริมาณเท่าๆ กัน ผสมกับน้ำมันจากโคแล้วทาตัวเด็ก
ตำรับ ๔ ใช้รากสวาด รากพุทรา หรดาลประสะ จันทน์แดงปริมาณเท่าๆ กัน บดละลายน้ำปัสสาวะของแพะแล้วนำมาทาตัวเด็ก แก้ผิวเนื้อชาสาก
         จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (โองการแม่ซื้อ ๔) เป็นจารึกบนแผ่นหินรูปวงรี จำนวน ๑ แผ่น มี ๒๑ บรรทัด เนื้อหาว่าด้วยโรคแม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันจันทร์ เด็กจะมีไข้สูง ท้องอืด กินข้าวและนมไม่ได้ รักษาโดย :

พิธีกรรม
 ใช้ข้าวสาร ๓ กำมือ ตำให้ละเอียดแล้วผสมน้ำ ปั้นเป็นรูปเด็ก ๑๓ คน ร่ม ๑๓ คัน ขนม ๑๓ อย่าง ข้าว ๑๓ ปั้น เตรียมกระแจะ น้ำมัน ดอกไม้ กล้วย อ้อย เนื้อปลา เป็นเครื่องบูชา แล้วขับมนต์ "โอม นโมภวติตถี สุมะภะทะปาละนิ พะลิมัตระ หานันจามันมัยยะพัสสะ สวาหะ สวาหายะ ฯ" ๓ จบ แล้วจึงนำรูปปั้นนั้นห่อด้วยใบไม้ ไปปักไว้ทางทิศตะวันออก ทำดังนี้ ๓ วัน หากไม่หาย ให้รักษาด้วยการปรุงยาสำหรับรมหรือทาตัวเด็กร่วมด้วย


ปรุงยา
ตำรับ ๑ ใช้ใบสะเดา กระดูกโค เส้นผมของคน ใบสาบแร้ง ดอกพิกุล น้ำมันจากโค ในปริมาณเท่าๆ กัน ประกอบเครื่องยาแล้วเผาเพื่อรมตัวเด็ก
ตำรับ ๒ ใช้รากสลอด ขมิ้นชัน ไพลแห้ง ลำพัน น้ำมันจากโค ในปริมาณเท่าๆ กัน ประกอบเครื่องยาแล้วเผาเพื่อรมตัวเด็ก
ตำรับ ๓ ใช้หญ้าพันงูแดง กาบหมาก ดีปลี เจตมูลแดง บดละลายกับปัสสาวะแพะแล้วทาตัวเด็ก
ตำรับ ๔ ใช้ซากแมงมุม เส้นผมของคน กระดองเต่า เผาแล้วรมที่ส่วนกระหม่อมของเด็ก
ตำรับ ๕ ใช้หญ้าพันงูแดง รากหนาด บอระเพ็ด ดีปลี ในปริมาณเท่าๆ กัน บดละลายกับปัสสาวะแพะแล้วทาตัวเด็กแก้ผิวชาสาก
          จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (โองการแม่ซื้อ ๕) เป็นจารึกบนแผ่นหินรูปวงรี จำนวน ๑ แผ่น มี ๒๒ บรรทัด เนื้อหาว่าด้วยโรคแม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันอังคาร เมื่อไข้ลงเด็กจะกินข้าวและนมไม่ได้ หลับตา บิดตัว ถอนใจใหญ่ หรือมีอาการเป็นไปต่างๆ นานา สามารถแก้ไขด้วยวิธีการต่อไปนี้ :
 พิธีกรรม
๏ใช้ข้าวสาร ๓ กำมือ ตำให้ละเอียดแล้วผสมน้ำ ปั้นเป็นรูปแม่ลูก จัดเครื่องบูชาประกอบด้วยข้าวแดง ๕ กระทง ธงแดง ๕ คัน ดอกไม้แดง ๕ ดอก ธูปเทียนอย่างละ ๕ แล้วขับมนต์ โอมนะโมภะคะวะติการิตตะมา วิทะพะ พองเหือง มารตะระปาลิมหาปาลา มัตตระ จัยยะผัสสะ สวาหะ ฯ๓ จบ นำไปปักไว้ทิศเหนือ หาก ๓ วันแล้ว ยังไม่หาย ให้ปรุงยาเพิ่มเติม

ปรุงยา
ตำรับ ๑ ใช้เขาโค น้ำมันจากโค เส้นผมของคน ขนแมว คราบงูเห่า ใบสะเดา กำมะถัน ประกอบเครื่องยาแล้วเผาเพื่อรมตัวเด็ก
ตำรับ ๒ ใช้ลูกฝ้าย เขากระบือ ปริมาณเท่าๆ กัน ประกอบเครื่องยาแล้วเผาเพื่อรมตัวเด็ก
ตำรับ ๓ ใช้เมล็ดพันธุ์ผักกาด คราบงู งาช้าง บวบขม หรดาลประสะ กระดูกโค บดละเอียดแล้วทาตัวเด็ก
ตำรับ ๔ ใช้ลำพัน โกศสอ หรดาลประสะ บัลลังก์ศิลา บดละเอียดแล้วทาตัวเด็ก
ตำรับ ๕ ใช้ขมิ้นอ้อย ข้าวเบือ แป้งเหล้า อย่างละส่วน ลูกถั่วพูคั่ว ๒ ส่วน ดอกชุมเห็ดเทศ ๔ ส่วน บดให้ละเอียด เผากับกำยานเนื้อไม้จนสุก ทำเป็นแท่งไว้ทาตัวเด็ก แก้ผิวชาสาก
 พิธีกรรม
๏ใช้ข้าวสาร ๓ กำมือ ตำให้ละเอียดแล้วผสมน้ำ ปั้นเป็นรูปแม่กับลูก โรยงาที่รูปปั้นตัวลูก จัดเครื่องบูชาประกอบด้วย ข้าวสุก ๑ ปั้น ธง ๑ คัน ขนมจีน ๑ ห่อ ธูปเทียนอย่างละ ๘ พร้อมเหล้าขาว ใช้หนามมะตูมแทงลงที่รูปปั้นนั้น บูชาด้วยดอกไม้แดง แล้วขับมนต์ โอม นะโมภควติหะจักเกกะจะปานะ แมงลมรัตตระ เปยยพุทัสสสะ สวาหะ วันนะกะหา สวาหายะ ฯ๓ จบ นำไปปักไว้ทิศตะวันตก หากล่วงไป ๓ วันแล้วยังไม่หาย ให้ปรุงยาเพิ่มเติม

ปรุงยา
ตำรับ ๑ ใช้ฟันของโค เมล็ดพันธุ์ผักกาด ดอกไม้ ชานพระ(?) เส้นผมของคน ขนแมว ราหนาด(?) ใบสวาท คราบงู น้ำมันจากโค ในปริมาณเท่าๆ กัน ประกอบเครื่องยาแล้วเผาเพื่อรมตัวเด็ก
ตำรับ ๒ ใช้เขากวาง พันธุ์ผักกาด ในปริมาณเท่าๆ กัน ประกอบเครื่องยาแล้วเผาเพื่อรมตัวเด็ก
ตำรับ ๓ ใช้เมล็ดพันธุ์ผักกาด รากหนาด ดอกไม้ ชานพระ ขนแมว ใบขัดมอน รากหญ้า ชันกาด ใบสะเดา น้ำมันจากโค ในปริมาณเท่าๆ กัน ประกอบเครื่องยาแล้วเผาเพื่อรมตัวเด็ก
ตำรับ ๔ ใช้ลำพัน มหาหิงคุ์จากยางโพธิ ในปริมาณเท่าๆ กัน บดละเอียดแล้วทาตัวเด็ก
ตำรับ ๕ ใช้น้ำมันจากโค พิมเสน กำมะถัน พันธุ์ผักกาด กระวาน ลำพัน ในปริมาณเท่าๆ กัน บดละเอียดแล้วทาตัวเด็ก
ตำรับ ๖ ใช้ลำพัน ฟันโค พันธุ์ผักกาด โกฐสอ หรดาลประสะ ในปริมาณเท่าๆ กัน บดละเอียดแล้วทาตัวเด็ก แก้ผิวชาสาก
          จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (โองการแม่ซื้อ ๗) เป็นจารึกบนแผ่นหินรูปวงรี จำนวน ๑ แผ่น มี ๒๑ บรรทัด เนื้อหาว่าด้วยโรคแม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันพฤหัสบดี เมื่อไข้ลงเด็กจะมีอาการเป็นไปต่างๆ นานา เจ็บเนื้อเจ็บตัว สะอึก หายใจขัด ตัวแดง ผิวหน้าชาสาก แก้ไขได้ดังนี้ :
พิธีกรรม
๏ใช้ข้าวสาร ๓ กำมือ ตำให้ละเอียดแล้วผสมน้ำ ปั้นเป็นรูปแม่กับลูก เตรียมเครื่องบูชา ได้แก่ ธง ๕ คัน ธูปเทียนอย่างละ ๕ ขนมจีน ๕ กระทง ข้าวบิณฑ์ ๕ ปั้น แล้วจึงขับมนต์ ๓ จบ โอม นโมภควติเหยยุง กาลิลักกะกามูล ผิดเมือมผลิมักกระหาภารา ปุตตระจัยยะ สวาหายะ ฯ๓ จบ นำไปปักไว้ทิศตะวันตก หาก ๓ วัน หากยังไม่หาย ให้ปรุงยาเพิ่มเติม

ปรุงยา
ตำรับ ๑ ใช้เปลือกโลด เถาสะค้าน บัลลังก์ศิลา ในปริมาณเท่าๆ กัน ประกอบเครื่องยาแล้วเผาเพื่อรมตัวเด็ก
ตำรับ ๒ ใช้ฟันของโค เมล็ดพันธุ์ผักกาด ดอกไม้ชานพระ ผมคน ขนแมว รากหนาด ใบสวาด คราบงู น้ำมันจากโค ในปริมาณเท่าๆ กัน ประกอบเครื่องยาแล้วเผาเพื่อรมตัวเด็ก
ตำรับ ๓ ใช้รากหนาด พันธุ์ผักกาด ดอกไม้ชานพระ ขนแมว ใบขัดมอน หญ้าชันกาด ใบสะเดา น้ำมันจากโค ในปริมาณเท่าๆ กัน ประกอบเครื่องยาแล้วเผาเพื่อรมตัวเด็ก
ตำรับ ๔ ใช้โกฐสอ ยางจิก เปลือกมังคุด พันธุ์ผักกาด ปริมาณเท่าๆ กัน บด แล้วทาตัวเด็ก
ตำรับ ๕ ใช้กาฝาก เทียนต้น จันทน์แดง บดละเอียดแล้วทาตัวเด็ก แก้ผิวชาสาก
          จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (โองการแม่ซื้อ ๘) เป็นจารึกบนแผ่นหินรูปวงรี จำนวน ๑ แผ่น มี ๒๑ บรรทัด เนื้อหาว่าด้วยโรคแม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันศุกร์ เมื่อไข้ลงเด็กจะมีอาการเป็นไปต่างๆ นานา คือ เจ็บมือเจ็บเท้า ชอบอมนิ้วมือ ชอบกัดหัวนมแม่ กินข้าวและกินนมไม่ได้ ให้แพทย์แก้ไขดังนี้ :
พิธีกรรม
๏ใช้ข้าวสาร ๓ กำมือ ตำให้ละเอียดแล้วผสมน้ำ ปั้นเป็นรูปแม่กับลูก ๘ ตัว เตรียมเครื่องบูชา ได้แก่ ขนมจีน ๘ จับ ข้าวบิณฑ์ ๘ ปั้น เทียน ๘ เล่ม แล้วขับมนต์ ๓ จบ นโมภควติเกลิมะ กะจะโพพัสสะ เจติหะพลิปรักกะหะพาลามะ รัตตระจัยยะผัสสะสวาหะสวาหายะ ฯ๓ จบ นำไปปักไว้ทิศเหนือ หาก ๓ วันแล้วยังไม่หาย ให้ปรุงยาเพิ่มเติม

ปรุงยา
ตำรับ ๑ ใช้เขาควายเผือก เขากวาง พันธุ์ผักกาด ในปริมาณเท่าๆ กัน ประกอบเครื่องยาแล้วเผาเพื่อรมตัวเด็ก
ตำรับ ๒ ใช้กระดูกสุนัขตัวสีดำ เขากวาง คราบงูสิง กระเทียม น้ำมันจากโค ในปริมาณเท่าๆ กัน ประกอบเครื่องยาแล้วเผาเพื่อรมตัวเด็ก
ตำรับ ๓ ใช้ลำพัน โกฐก้านพร้าว เมล็ดพันธุ์ผักกาด ในปริมาณเท่าๆ กัน บดแล้วทาตัวเด็ก
ตำรับ ๔ ใช้รากแมงลัก รากหิ่งหาย น้ำประสานทอง สารส้ม งาช้าง ดินประสิวขาว ปริมาณเท่าๆ กัน บด แล้วชโลมตัวเด็ก
ตำรับ ๕ ใช้เมล็ดมะกล่ำดำ เมล็ดในมะม่วงพรวน เปลือกเพกา ในปริมาณเท่าๆ กัน บดละเอียดแล้วทาตัวเด็กหรือจะละลายน้ำดอกไม้แล้วชโลมดัวเด็กก็ได้ แก้ผิวชาสาก
          จารึกตำรายาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (โองการแม่ซื้อ ๙) เป็นจารึกบนแผ่นหินรูปวงรี จำนวน ๑ แผ่น มี ๒๑ บรรทัด เนื้อหาว่าด้วยโรคแม่ซื้อประจำตัวเด็กที่เกิดวันเสาร์ เมื่อไข้ลงเด็กจะมีอาการเป็นไปต่างๆ นานา เจ็บเสียดแทงไปทั้งตัว กินข้าวและกินนมไม่ได้ ให้แพทย์แก้ไขดังนี้ :
พิธีกรรม
๏ใช้ข้าวสาร ๓ กำมือ ตำให้ละเอียดแล้วผสมน้ำ ปั้นเป็นรูปแม่กับลูก ๔ ตัว โรยงาเม็ดที่รูปปั้น เตรียมเครื่องบูชา ได้แก่ ธง ๔ คัน ข้าวบิณฑ์ ๔ ปั้น ดอกไม้แดง กระแจะ สุรา และเนื้อปลา แล้วขับมนต์ โอมนะวายะปาโลพิกะทะ อะยาวายยะวะนะนายะคะไลยัง โอมมาลินะผัดอิมาผะลิมัตตระหารุตตระจัยยะสวาหะ สวาหายะฯ๓ จบ นำไปปักไว้ทิศใต้ แล้วอาบน้ำมนต์ ทำดังนี้ ๓ วัน หากยังไม่หาย ให้ปรุงยาเพิ่มเติม
ปรุงยา
ตำรับ ๑ ใช้ใบสะเดา กระดูกโค เส้นผมของคน สาบแร้ง ใบพิกุล น้ำมันจากโค ในปริมาณเท่าๆ กัน มาเผา แล้วรมตัวเด็ก เพื่อขับพิษ
ตำรับ ๒ ใช้กระเทียม พันธุ์ผักกาด ในปริมาณเท่าๆ กัน ประกอบเครื่องยาแล้วเผาเพื่อรมตัวเด็ก
ตำรับ ๓ ใช้ลำพัน มหาหิงคุ์จากยางโพธิ ในปริมาณเท่าๆ กัน บดแล้วทาตัวเด็ก
ตำรับ ๔ ใช้ใบผักไห่ งาเม็ด หญ้าใร้ใบ สาบแร้ง ตำเข้าด้วยกันแล้วบิดเอาน้ำ เอากระดูกกวาง เขากวาง ฝนแล้วเติมเข้าไป ใช้ชโลมตัวเด็ก
ตำรับ ๕ ใช้พันธุ์ผักกาด ชานหมากสง ดอกไม้ชานพระ เส้นผมของคน ขนแมว ใบสะเดา น้ำมันจากโค ในปริมาณเท่าๆ กัน บดละเอียดแล้วทาตัวเด็ก แก้ผิวชาสาก

 แม่ซื้อและ ตำรายา
คำว่า “แม่ซื้อ” ยังเป็นชื่อโรคที่เกิดแก่ทารกตั้งแต่แรกคลอดจากครรภ์มารดา จนถึงอายุได้ 12 เดือน ลักษณะอาการของโรคแม่ซื้อ มีชื่อเรียกและอาการของโรคแตกต่างกัน 4 ประการ คือ
1.        ปักษี หรือ ปีศาจ อาการของโรคเกิดเป็นพิษจับไข้ แล้วมีเวลาสร่าง จำแนกได้ 4 ชนิด คือ
นนทปักษี ไข้จับเวลาเช้า สร้างเวลาค่ำ
กาฬปักษี ไข้จับเวลาค่ำ สร่างเวลาเช้ามืด
อสุนนทปักษี ไข้จับเวลาเที่ยววัน สร่างเวลาเที่ยงคืน
เทพปักษี ไข้จับเวลาเย็น สร่างเวลาเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น
2.        ลำบองราหู อาการของโรคมีลักษณะแตกต่างกันตามอายุของเด็ก กำหนดตั้งแต่เด็กมีอายุได้ 1 เดือน จนถึง 12 เดือน อาการโรคมีต่างๆกันดังนี้
ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ 1 เดือน อาการเมื่อแรกจับ มีผื่นขึ้นทั้งตื่นนั้น พิษของเม็ดผื่นนั้น ทำให้เจ็บไปทุกขุมขน ขนชูชัน นอนสะดุ้ง ร้องไห้หาน้ำตามิได้ เป็นต้น
ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ 2 เดือน อาการเมื่อแรกจับ ทำให้เจ็บคอ อ้าปากร้อง กลืนอาหารไม่ได้ เป็นต้น
ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ 3 เดือน อาการเมื่อแรกจับ ทำให้ท้องขึ้น ท้องพองเหลือกำหนด อึดอัด หายใจไม่สะดวก ร้องไห้ดิ้นรนอยู่ดังจะขาดใจ เป็นต้น
ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ 4 เดือน อาการเมื่อแรกจับ นัยน์ตาจะเหลือง ให้กำมือเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ แข็งกระด้างเกร็งไปทั้งตัว เป็นต้น
ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ 5 เดือน อาการเมื่อแรกจับ มีไข้ ตัวร้อน ท้องขึ้น ท้องพอง เป็นต้น
ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ 6 เดือน อาการเมื่อแรกจับ มือเท้าเย็น ท้องขึ้น ตาเหลือง หลังแข็ง เป็นต้น
ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ 7 เดือน อาการเมื่อแรกจับ จะบิดตัว นัยน์ตาเหลือกขึ้นบน มือกำ เท้างอ เป็นต้น
ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ 8 เดือน อาการเมื่อแรกจับ มีไข้ ปากเปื่อย ยิงฟันเป็นนิจ เบื่ออาหาร เป็นต้น
ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ 9 เดือน อาการเมื่อแรกจับ หนาวสะท้าน หดมือ หดเท้า เป็นต้น
ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ 10 เดือน อาการเมื่อแรกจับ มีไข้ ตัวร้อนจัด นอนสะดุ้งผวา ร้องไห้ไม่หยุด เป็นต้น
ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ 11 เดือน อาการเมื่อแรกจับ มีไข้ ตัวร้อน มีเม็ดพิษขึ้นที่ราวนม และรักแร้ ทำให้ร้องไห้ดิ้นรน กางแขนอ้ารักแร้อยู่ตลอดเวลา เป็นต้น
ลำบองราหู เกิดเมื่ออายุได้ 12 เดือน อาการเมื่อแรกจับ เป็นไข้ชัก ตัวเย็น เป็นเหน็บ ร้องไห้ไม่ออก หมดสติ เป็นต้น
3.        อัคคมุขี อาการของโรคเกิดพิษไข้ตัวร้อน ท้องขึ้น อาเจียน ชักมือกำ เท้างอ เป็นต้น
4.        สะพั้น หรือ ตะพั้น อาการของโรคเกิดพิษไข้ตัวเย็นจัด ท้องขึ้น ชักมือกำ เท้างอ เป็นต้น

เมื่อแม่ซื้อมาทำให้เกิดโรคก็ทำบัตรบังบรวงต่อแม่ซื้อ แม่ซื้อเป็นความเชื่อมาตั้งแต่โบราณ บรรพบุรุษได้สืบทอดให้ไว้ เป็นหน้าที่ของคนรุ่นหลังที่จะรักษามรดกของชาตินี้ไว้ให้คนรุ่นต่อไปๆได้รับรู้ศึกษา ว่าครั้งหนึ่งเราตอนเราเป็นทารกยังเคยมีเทวดามาดูแลรักษา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น