พระสยามเทวาธิราช : เทพยดารักษาบ้านเมือง

พระสยามเทวาธิราช


พระคาถาสวดบูชาพระสยามเทวาธิราช
ระตะนัตตะยัปปะภาวาภิยาจะนะคาถา พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
            อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ อุตตะมัง ธัมมะมัชฌะคา มะหาสังฆัง ปะโพเธสิ อิจเจตัง ระตะนัตตะยัง พุทโธ ธัมโม สังโฆ จาติ นานาโหนตัมปิ วัตถุโต อัญญะมัญญาวิโยคาวะ เอกีภูตัมปะนัต ถะโต พุทโธ ธัมมัสสะ โพเธตา ธัมโม สังเฆนะ ยาริโต สังโฆ จะ สาวะโก พุทธัสสะ อิจเจกา พัทธะเมวิทัง วิสุทธัง อุตตะมัง เสฏฐัง โลกัสมิง ระตะนัตตะยัง สังวัตตะติ ปะสันนานัง อัตตะโน สุทธิกามินัง สัมมา ปะฏิปัชชันตานัง ปะระมายะวิสุทธิยา วิสุทธิ สัพพะเกลเส หิ โหติ ทุกเขหิ นิพพุติ นิพพานัง ปะระมังสุญญังนิพพานัง ปะระมัง สุขัง เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ สุวัตถิ โหตุ สัพพะทา ระตะนัตตะยานุภาเวนะ ระตะนัตตะยะ เตชะสา อุปัททะวันตะรายา จะอุปะสัคคา จะ สัพพะโส มา กะทาจิ สัมผุสิงสุ รัฏฐัง สยามานะเมวิทัง อาโรคิยะสุขัญเจวะ ตะโต ทีฆายุตาปิ จะ ตัพพัตถูนัญจะ สัมปัตโย สุขัง สัพพัตถะ โสตถิ จะ ภะวันตุ สัมปะวัตตันตุ สยามานัง รัฏฐะปาลินัง เต จะ รัฏฐัญจะ รักขันตุ สยามะรัฏฐิกะเทวะตา สยามานัง รัฏฐะปาลีหิ ธัมมามิเสหิ ปูชิตา สิทธะมัตถุ สิทธะมัตถุ สิทธะมัตถุ อิทัง ผะลัง เอตัสมิง ระตะนัตตะยัสมิง สัมปะสา ทะนะเจตะโส

คาถาสวดบูชาพระสยามเทวาธิราชจะเป็นสิริมงคลแก่ผู้บูชาทุกวัน
            สะยามะเทวาธิราชา    เทวาติเทวา มะหิทธิกา
     เทยยรัฏฐัง อะนุรักขันตุ      อาโรคะเยนะ สุเขนะ จะ
     เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ        สุวัตถิ โหตุ สัพพะทา
     สะยามะเทวานุภาเวนะ       สะยามะเทวะเตชะสา
     ทุกขะโรคะภะยา เวรา        โสกา สัตตุ จุปัททะวา
     อะเนกา อันตะรายาปิ        วินัสสันตุ อะเสสะโต
     ชะยะสิทธิ ธะนัง ลาภัง      โสตถิภาคยัง สุขัง พะลัง
     สิริ อายุ จะ วัณโณ จะ       โภคัง วุฑฒิ จะ ยะสะวา
     สะตะวัสสา จะ อายุ จะ       ชีวะสิทธี ภะวันตุ เม ฯ
            พระสยามเทวาธิราช เป็นเทวรูป หล่อด้วยทองคำสูง 8 นิ้ว ประทับยืนทรงเครื่องกษัตริยาธิราช ทรงฉลองพระองค์อย่างเครื่องของเทพารักษ์ มีมงกุฎเป็นเครื่องศิราภรณ์ พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ ซ้ายยกขึ้นจีบดรรชนีเสมอพระอุระ องค์พระสยามเทวาธิราชประดิษฐานอยู่ในเรือนแก้วทำด้วยไม้จันทน์ ลักษณะแบบวิมานเก๋งจีน มีคำจารึกเป็นภาษาจีนที่ผนังเบื้องหลัง แปลว่า "ที่สถิตย์แห่งพระสยามเทวาธิราช" เรือนแก้วเก๋งจีนนี้ประดิษฐานอยู่ในมุขกลางของพระวิมานไม้แกะสลักปิดทอง ตั้งอยู่เหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ตอนกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง

            พระวิมานไม้แกะสลักปิดทองนี้ เรียกว่า พระวิมานไม้แกะสลักปิดทองสามมุข ด้านหน้าขององค์พระสยามเทวาธิราชตั้งรูปพระสุรัสวดี หรือพระพราหมี เทพเจ้าแห่งการดนตรีและขับร้อง มุขตะวันออกของพระวิมาน ตั้งรูปพระอิศวรและพระอุมา มุขตะวันตกของพระวิมาน ตั้งรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ

ก่อนจะเข้าเรื่องพระสยาเทวาธิราช ขอเท้าความถึงเทพยดารักษาเมืองต่างๆเสียก่อน

สมัยสุโขทัย
            ว่ากันว่าบ้านเมืองจะอยู่ร่มเย็นเป็นสุขได้ เพราะมีเทพยดาคอยปกปักษ์พิทักษ์รักษาบ้านเมือง ความเชื่อเรื่องเทวะผู้รักษาบ้านรักษาเมืองนั้นมีมาแต่โบราณ ครั้งสมัยสุโขทัยก็มีความเชื่อเรื่องเทพยดารักษาบ้านเมืองปรากฏให้เห็น ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง หลักศิลาจารึกหลักที่ ๑ จารึกด้านที่ ๓
            "เบื้องหัวนอนเมืองสุโขทัยนี้ มีพระขะพุงผี เทพดาในเขาอันนั้นเป็นใหญ่กว่าทุกผีในเมืองนี้ ขุนผู้ใดถือเมืองสุโขทัยนี้แล้ว ไหว้ดีพลีถูกเมืองนี้เที่ยง เมืองนี้ดี ผิไหว้บ่ดีพลีบ่ถูก ผีในเขาอันบ่คุ้มบ่เกรง เมืองนี้หาย"
            เมืองสุโขทัย มีพระขะพุงผี เป็นเทพยดาสถิตอยู่ในภูเขา ยิ่งใหญ่กว่าเทพยดาและทุกผีที่อยู่ในเมืองนี้ ผู้ปกครองเมืองสุโขทัยเคารพเซ่นไหว้บูชา เซ่นสรวง เมืองนี้จะดี มิไหว้บูชาเซ่นสรวงไม่ถูก พระขะพุงผีจะไม่คุ้มครอง เมืองนี้จะสิ้น
            จะเห็นได้ว่าสมัยพ่อขุนรามคำแหงก็มีการไหว้บูชาพลีกรรมต่อเทพยดารักษาเมือง สมัยนี้ท่านเรียกกันว่า พระขะพุงผี สถิตอยู่ในภูเขาทางทิศเบื้องหัวนอนของเมืองสุโขทัย

สมัยอยุธยา
            สมัยอยุธยาดังปรากฏความเชื่อในวรรณกรรมเรื่องลิลิตพระลอ ตอนที่หมอสิทธิไชยมาแก้อาถรรพ์ให้พระลอ หมอสิทธิไชยก็รักษาได้ อีกทั้งยังเชิญผีรักษาเทวดารักษาเมือง เสื้อบ้านเสื้อเมืองดูแลพิทักษ์ปกปักษ์รักษา แต่ในที่สุดปู่เจ้าสมิงพรายก็แต่งกองทัพเทวดาและผีตีเมือง จนเทวดาอารักษ์เมืองแตกพ่าย
            เสื้อบ้านเสื้อเมือง เป็นความเชื่อของชาวไททางเหนือ ผีเสื้อบ้านและผีเสื้อเมือง ต่อมาถูกเรียกว่า พระทรงเมือง บ้างก็เป็นภุมเทวาหรือยักษ์ บ้างก็เป็นเทวดารักษาบ้านเมือง
            ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โบราณถือว่าพิธีสร้างพระนครหรือสร้างบ้าน สร้างเมือง ต้องฝังอาถรรพ์ 4 ประตูเมือง ต้องฝังเสาหลักเมืองการฝังเสาหลักเมืองและเสามหาปราสาทต้องเอาคนที่มีชีวิตทั้งเป็น ลงฝังในหลุม เพื่อให้เป็นผู้เฝ้าทวารมหาปราสาทบ้านเมือง ป้องกันอริราชศัตรูมิให้มีโรคภัย ไข้เจ็บเกิดแก่เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ผู้ครองนครบ้านเมือง ในการทำพิธีกรรมดังกล่าว ต้องเอาคนที่ชื่อ อิน จัน มั่น คง มา ฝังลงหลุม จึงจะศักดิ์สิทธิ์และขณะที่นายนครวัฒเที่ยว เรียกชื่อ อิน จัน มั่น คง ไปนั้น ใครโชคร้ายขานรับขึ้นมาก็จะถูกนำตัวไปฝังในหลุม หลุมเสาหลักเมืองนั้น จะผูกเสาคานใหญ่ชักขึ้นเหนือหลุมนั้นในระดับสูงพอสมควร โยงไว้ด้วยเส้นเชือกสองเส้นหัวท้ายให้เสาหรือซุงนั้นแขวนอยู่ตามทางนอนเหมือนอย่างลูกหีบ ครั้นถึงวันกำหนดที่จะกระทำการอันทารุณนี้ ก็เลี้ยงดุผู้เคราะห์ร้ายให้อิ่มหนำสำราญแล้ว แห่แหนนำไปที่หลุมนั้น พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งให้บุคคลทั้งสามนั้นเฝ้าประตูเมืองไว้ด้วย และให้เร่งแจ้งข่าวให้รู้กันทั่ว เมื่อคนมาชุมนุนกันเขาก็ตัดเชือกปล่อยให้เสาหรือซุงหล่น ลงมาบนศีรษะผู้เคราะห์ร้ายผู้ตกเป็นเหยื่อของการถือโชคถือลางนั้น บี้แบนอยู่ในหลุม คนไทยเชื่อว่าผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้จะกลายเป็นผีอารักษ์ที่เรียกกันว่า “ผีราษฏร”

อาณาจักรล้านนา
            ในชาวล้านนา ก็ยังมีให้เห็นในบริเวณประตูและแจ่งต่างๆ ของเวียงเชียงใหม่ เป็นที่อยู่ของเทวดาอารักษ์ที่คอยดูแลรักษาเมืองและผู้คนให้มีความสุขและให้บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ เทวดาอารักษ์เหล่านี้เปรียบเสมือนศรีและขวัญของเมือง ชาวเมืองต้องทำพิธีบูชาผีและอารักษ์เมืองทุกปี และในทางกลับกันหากต้องการทำลายเมือง วิธีหนึ่งคือการทำลายศรีและขวัญเมือง ด้วยการทำขึดบริเวณประตูเมือง ซึ่งเป็นที่สิงสถิตย์ของเทวดาอารักษ์เมือง เหมือนเช่นในสมัยพระเจ้าติโลกราช ทางอาณาจักรอยุธยาได้ส่งคนมาทำลายศรีและขวัญเมืองด้วยการทำคุณไสยนำไหใส่ยา (ของที่ไม่เป็นมงคล) ไปฝังไว้กลางเมืองและบริเวณประตูเมืองทั้งหกแห่ง ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมายภายในเมือง จนกระทั่งเมื่อพระเจ้าติโลกราชทรงทราบและโปรดให้แก้อาถรรพ์นำไหออกไปเผา ทำให้เชียงใหม่หมดเคราะห์ร้าย และค่อยๆ ดีตามลำดับ
            เทวดาอารักษ์ที่สิงสถิตย์อยู่ที่ประตูเมืองไว้ดังนี้ เทวบุตร สุรักขิโต รักษาประตูช้างเผือกและประตูท่าแพตะวันออก เทวบุตร ไชยภุมโม รักษาประตูเชียงใหม่และประตูเมืองด้านใต้ เทวบุตร สุรขาโต รักษาประตูสวนดอกด้านทิศตะวันตก เทวบุตร คันธรักขิโตรักษาประตูช้างเผือกด้านทิศเหนือ แล้วยังมีกุมภัณฑ์สองตนที่ปกปักษ์เมืองเชียงใหม่และเสาอินทขิลอีกด้วย
             สำหรับบริเวณแจ่งต่างๆ มีศาลประจำแจ่ง ซึ่งเป็นที่สิงสถิตย์ของผีอารักษ์เมือง ศาลประจำแจ่งที่สำคัญที่สุดคือ ศาลประจำแจ่งศรีภูมิ เพราะเป็นบริเวณที่ทำพิธีเซ่นหรือเลี้ยง ผีเจ้าหลวงคำแดง ซึ่งเป็นอารักษ์เมืองที่มีอิทธิพลสูงสุด สูงกว่าผีตนใดในเชียงใหม่ มีสถานะเป็นผีเจ้านาย โดยปกติผีเจ้าหลวงคำแดงจะสถิตอยู่ที่ดอยเชียงดาว

เท้าความมาก็ยืดยาวโข คราวนี้มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ต่อต้น ก็มีความเชื้อเรื่องเทพยดารักษาเมือง
จากหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ทรงพระนิพนธ์ไว้ว่า
"...ตอนมหาอำนาจทางตะวันตกทำการเปิดประตูค้ากับพวกตะวันออก ในระยะเวลาต้นๆศตวรรษที่ 19 ของคริสต์ศักราชนั้น พวกเมืองข้างเคียงไม่รู้ทันเหตุการณ์ภายนอกว่า ทางตะวันตกมีอำนาจปืนเรือพอที่จะเอาชนะได้อย่างง่ายดาย จึงพากันไม่ยอมทำสัญญาด้วย ซ้ำยังขับไล่ ใช้อำนาจจนเกิดเป็นสงครามขึ้น ก็เป็นธรรมดาที่คนมีแต่มีดจะต้องแพ้ผู้มีปืน แล้วถูกเป็นเมืองขึ้นไปโดยสะดวก ฝ่ายทางเมืองไทยเรานั้นมหาอำนาจตกลงกันให้อังกฤษมาเป็นผู้เปิดประตูทำสัญญาค้าขาย ซึ่งตามที่จริงก็เคยมีไมตรีกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่เมื่อบ้านเมืองมีเหตุการณ์ศึกสงครามเกิดขึ้นชาวต่างประเทศไปมาค้าขายไม่สะดวกได้ ก็จำต้องหยุดการติดต่อกันไปเป็นพัก ๆ การเป็นเช่นนี้แก่ทุกบ้านทุกเมือง ฉะนั้น เมื่อเสร็จศึกกับพม่าในรัชกาลที่ 1 แล้ว ถึงรัชกาลที่ 2 ชาวโปรตุเกสก็เข้ามาจากเมืองมาเก๊า เพื่อขอทำสัญญาค้าขายใน พ.ศ. 2363 โปรดเกล้าฯ ให้รับสัญญาเพราะเรายังต้องการซื้อปืนไฟจากชาวตะวันตกอยู่ ต่อมาอีก 2 ปี มิสเตอร์ จอน ครอเฟิด (John Crawford) ทูตอังกฤษเข้ามาขอทำสัญญาจากผู้สำเร็จราชการอินเดียใน พ.ศ. 2365
ถึงรัชกาลที่ 3 อังกฤษเกิดรบกันขึ้นกับพม่าเป็นครั้งแรก ครั้นชนะแล้วจึงให้กัปตันเฮนรี่ เบอร์เนย์ (Henry Burney) เข้ามาทำสัญญาเมื่อ พ.ศ. 2368 ทูตอเมริกัน มิสเตอร์ เอ็ดมอนด์ โรเบิต (Edmond Roberts) เข้ามาทำสัญญาเมื่อ พ.ศ. 2375 มิสเตอร์ริดชัน (Ridson) ทูตอังกฤษเข้ามาทำสัญญาขอซื้อช้างเมื่อ พ.ศ. 2381 และเซอร์เจมส์ บรู้ค (Sir James Brooke) ผู้เคยเป็นรายา (White Raja) ผู้ครองเกาะซาราวัก (Sarawak) เข้ามาขอทำสัญญาอีกเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2393 ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต รวมทูตอังกฤษที่เข้ามาทำสัญญากับเมืองไทยถึง 4 ครั้ง แต่ก็ได้ทำแต่เรื่อง เล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นเรื่องผ่านแดนไทยกับพม่า และสัญญาซื้อขายช้าง ม้า และแลกเปลี่ยนสินค้าบางอย่าง ไม่ได้ทำสัญญากับเมืองไทยโดยตรงอย่างเมืองอื่น ๆ ส่วนทางเมืองไทยก็ยังไม่มีใครเชื่อว่าจะมีผู้ใดจะเกะกะทางนี้ได้ บางคนนึกเลยไปว่าเหล็กจะลอยน้ำได้อย่างไร ในเมื่อมีใครมาเล่าว่าทางมหาอำนาจตะวันตกนั้นมีเรือรบที่ทำด้วยเหล็ก ไทยจึงไม่เต็มใจจะเปิดประตูค้ากับผู้ใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นแต่รับข้อที่จำเป็นในเวลานั้นเท่านั้น แต่ในที่สุดเราก็ได้พบรายงานของเซอร์เจมส์ บรู๊ค ผู้ซึ่งเข้ามาครั้งสุดท้ายในรัชกาลที่ 3 ว่า
‘..พระเจ้าแผ่นดินกำลังเสด็จอยู่บนพระแท่นสวรรคต และพระองค์ที่จะเสวยราชย์ใหม่ก็มีหวังจะพูดกันได้เรียบร้อย ฉะนั้น จึงขอรอการใช้กำลังบังคับไว้ก่อน...
ตามรายงานนี้เห็นได้ชัดว่า เขาเตรียมจะใช้กำลังกับเราอยู่แล้ว เผอิญให้เกิดมีการสวรรคตและเปลี่ยนแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นมาเสวยราชย์ในเวลาที่ทรงทราบเหตุการณ์นอกประเทศดีอยู่แล้ว เพราะทรงมีเวลาศึกษาเพียงพอ ในเวลาที่ผนวชเป็นพระภิกษุถึง 27 ปี พอเสวยราชย์ได้ 4 ปี เซอร์จอน โบว์ริง (Sir John Bowring) เจ้าเมืองฮ่องกง ก็มีจดหมายส่วนตัวเข้ามากราบทูลว่า คราวนี้ตัวเขาจะเข้ามาเป็นราชทูตแทนพระองค์ควีน วิคตอเรีย ไม่ใช่เป็นแต่เพียงทูตมาจากผู้สำเร็จราชการอินเดียเช่นคนก่อน ๆ เพราะฉะนั้นจึงหวังว่าจะไม่มีเรื่องเดือดร้อนถึงต้องขัดใจกัน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบข้อไขอันนี้ดี จึงเปิดประตูรับในฐานะมิตร และเป็นผลให้เราได้พ้นภัยมาได้แต่ผู้เดียวในทางตะวันออกประเทศนี้
..เมื่อเหตุการณ์เรียบร้อยแล้ว ทรงพระราชดำริว่า เมืองไทยเรานี้มีเหตุการณ์หวิด ๆ จะต้องเสียอิสรภาพมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว แต่เผอิญให้มีเหตุรอดพ้นได้เสมอมา ชะรอยจะมีเทพยดาองค์ใดองค์หนึ่งที่คอยพิทักษ์รักษาอยู่ จึงสมควรจะทำรูปเทพพระองค์นั้นขึ้น ไว้สักการบูชา แล้วโปรดให้พระองค์เจ้าดิษฐวรการ (หม่อมเจ้ารัชกาลที่ 1) นายช่างเอกทรงปั้นรูปเทพพระองค์นั้น เป็นรูปทรงต้นยืนถือพระขรรค์ในพระหัตถ์ขวา ขนาด 8 นิ้วฟุตงดงามได้สัดส่วนแล้วหล่อด้วยทองคำแท่งทั้งพระองค์ ทรงถวายพระนาม "พระสยามเทวาธิราช" แล้วประดิษฐานไว้ในพระวิมานกลางพระที่นั่งไพศาลทักษิณจนทุกวันนี้ ท่านผู้ใหญ่ชั้นคุณย่าของข้าพเจ้าเล่าว่า ในรัชกาลที่ 4 ทรงถวายเครื่องสังเวยเป็นราชสักการะทุกวัน และเป็นที่นับถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์นัก บัดนี้เนื่องแต่ทางพระราชสำนักต้องตัดทอนรายจ่ายมากมายมาแต่ในรัชกาลที่ 7 จึงคงยังมีเครื่องสังเวยถวายแต่เฉพาะวันอังคาร และวันเสาร์ อาทิตย์ละ 2 ครั้ง และในเวลาปีใหม่ก็มีการบวงสรวงสังเวยเป็นพิธีใหม่ มีละครรำของกรมศิลปากรในเวลาเช้าวันสังเวยนั้น..
..อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ต่าง ๆ ดังเราท่านได้ประสบมาด้วยตนเอง ยิ่งนานวันก็ยิ่งเห็นว่าพระสยามเทวาธิราชนั้นมีจริง เราจงพร้อมใจกันอธิษฐานด้วยกุศลผลบุญที่เราได้ทำมาแล้วด้วยดี ขอให้เทพเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์พระองค์นี้ จงได้ทรงคุ้มครองป้องกันภัย และโปรดประสิทธิ์ประสาทความสมบูรณ์พูนสุขให้แก่ประชาชนชาวสยามทั่วกันเทอญ.."
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถวายเครื่องสังเวยเป็นราชสักการะเป็นประจำวัน เครื่องสังเวยที่ถวายเป็นประจำนั้น จะถวายเฉพาะวันอังคาร และวันเสาร์ก่อนเวลาเพล โดยจะมีพนักงานฝ่ายพระราชฐานชั้นใน เป็นผู้เชิญเครื่องตั้งสังเวยบูชา เครื่องสังเวยประกอบด้วย ข้าวสุกหนึ่งถ้วยเชิง หมูนึ่งหนึ่งชิ้น พร้อมด้วยน้ำพริกเผา ปลานึ่งหนึ่งชิ้นพร้อมด้วยน้ำจิ้ม ขนมต้มแดงและขนมต้มขาว กล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อนหนึ่งผล ผลไม้ตามฤดูกาลสองอย่าง และน้ำสะอาดอีกหนึ่งถ้วย โปรดเกล้า ฯ ให้จัดพระราชพิธีสังเวยเทวดา ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้สร้างขึ้นเลียนแบบพระสยามเทวาธิราชแต่แปลงเค้าพระพักตร์ให้เหมือนสมเด็จ พระชนกาธิราช เพื่อทรงสักการะ พระบรมรูปองค์นี้ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
ต่อมาในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า พระอภิเนาว์นิเวศน์พระพุทธมณเฑียร และพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งเป็นโครงสร้างเสาไม้หุ้มปูน ที่ได้สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ชำรุดทรุดโทรมลงมาก ยากที่จะบูรณะให้คงสภาพเดิมไว้ได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อลงทั้งหมด และอัญเชิญพระสยามเทวาธิราชไปประดิษฐานไว้ ณ พระวิมานทองสามมุขเหนือลับแลบังพระทวารเทวราชมเหศวร์ ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ตราบจนถึงทุกวันนี้
พระราชพิธีบวงสรวงใหญ่พระสยามเทวาธิราช ตามประเพณีกำหนดไว้ในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามจันทรคติแบบโบราณ ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หรือพระราชวงศ์ชั้นผู้ใหญ่เสด็จแทนพระองค์มาทรงถวายเครื่องสังเวยเป็นราชสักการะพระสยามเทวาธิราช และมีละครในจากกรมศิลปากรรำถวาย
ระหว่างวันที่ 7 - 30 เมษายน พ.ศ. 2525 เมื่อครั้งฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระสยามเทวาธิราชจากพระวิมานในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ขึ้นเสลี่ยงโดยประทับบนพานทอง 2 ชั้น สู่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ประดิษฐาน ณ บุษบกมุขเด็จ เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวง ในวันพุธที่ 7 เมษายน 2525 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สาธุชนเข้าถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชหลังเสด็จฯ กลับ จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2525 นับเป็นครั้งแรกที่ประชาชนมีโอกาสได้เข้าถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชเฉพาะพระพักตร์


จบเรื่องพระสยามเทวาธิราชแต่เพียงเท่านี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น