บทนมัสการพระพุทธเจ้า (ตั้ง นะโม ให้ถูก)

การสวดบทนมัสการพระพุทธเจ้าที่ถูกต้อง
บทนะโมที่เราว่าง่ายๆนั้น ความเป็นมาไม่ง่ายเลย
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
                นะโมตัสสะ
ขอนมัสสะ     ภะคะวะโต
ตถาคตะ      อะระหะโต
ผู้ตัดสํโย      ชนํพ้นกิเลส
                 สัมมาสัมพุท
ผู้ที่วิมุต       บริสุทธิ์วิเศษ
ตรัสรู้เห็น      เช่นอริยเหตุ
ธัสสะไร้เขต    ประกอบองค์เอง
 ครั้นจักกล่าวไปถึง          ด้วยคำนึงว่านะโม
ต้นเหตุจากพุทโธ               บทนะโมจึงเกิดมา
นะโมผู้กล่าวไว้                  เป็นไฉนหรือวาจา
ผู้กล่าวนโมมา                   ยักษ์สาตายักษ์คีรี
นะโมคำพูดนี้                 เป็นคำที่อุทานมี
ตามภาษาบาลี                  ยักษ์คีรีกล่าวสรรเสริญ
ตัสสะอุทานนี้                อะสุรินทะเจริญ
กล่าวนำเพราะดำเนิน          จึงสรรเสริญตามกันไป
ภะคะวะโตนี้                  พระคุณที่ ธ ทรงให้
จตุราชกล่าวไว้                 สรรเสริญในกรุณา
อัน อะระหะโต”               วิมุตโตวิสุทธา
ผู้กล่าวคืออินทรา              ท้าวเทวาราชสักกะ
ส่วนอีกหนึ่งคำพจ               “สัมมาสัมพุทธัสสะ
จากมหาพรหมะ                สรรเสริญพระพุทธฺปัญญา
จากทุกพจนา                   อรหันต์รวมขึ้นมา
รวมบทพวกนี้ว่า                พรรณนานมัสการ
         นับแต่ครั้งพระพุทธกาล ลำดับนั้นมีพราหมณ์สองผัวเมีย มีความเลื่อมใสต่างกัน ผัวเลื่อมใสในลัทธิพราหมณ์ เมียเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา คราวหนึ่ง ผัวเชิญพวกพราหมณ์มาเลี้ยงอาหารในการมงคล เมียก็ช่วยตามหน้าที่ของภรรยาที่ดี นางยกสำรับมาเพื่อให้ผัวเลี้ยงพราหมณ์ เหยียบพื้นพลาดเซไปก็พลั้งปากออกมาว่า นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
          พวกพราหมณ์ที่ได้รับเชิญมา ฟังดังนั้นพากันพูดว่า ตัวกาฬกัณณีเกิดขึ้นในบ้านนี้แล้ว พากันลุกไปหมด พราหมณ์ผู้เป็นผัวโกรธเมียเป็นฟื้นเป็นไฟด่าว่าเมียยกใหญ่ สุดท้ายบอกว่า ดีละ จะไปเล่นงานสมณโคดมของแก่ให้จนทีเดียวรีบไปเข้าเฝาพระพุทธเจ้าด้วยความโกรธ พอไปถึงก็ตั้งปัญหาถามทันทีว่า ฆ่าอะไรเสีย จึงจะอยู่เป็นสุขพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบทันทีว่า ฆ่าความโกรธเสียจึงจะอยู่เป็นสุขเพียงเท่านี้ พราหมณ์ผู้มีอุปนิสัยก็เห็นจริง เกิดความเลื่อมใส ว่าบทนมัสการได้ด้วยตนเอง และฟังบทนมัสการของผู้อื่นด้วยใจชื่นบาน สมดังพระอรรถคาถาตำนานก็มีด้วยประการแฉนี้แล ฯ

นะโม สาตาคิริยักโข
ตัสสะ อะสุรินโท ภะคะวะโต จาตุมะหาราชา
อะระหะโต สักโก สัมมาสัมพุทธัสสะ มะหาพฺรหมา
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
อิทานิ เตสุ สรณคมเนสุ โกสลตฺถํ สรณคมนํ
เยหิ ตํ สรณํ คจฺฉนฺติ สรณคมนปฺปเภโท
สรณาคมนํ ผลํ สงฺกิโส เภโทติ วิธิ เวทิตพฺพา
นโม สาตาคิริยกฺโข ตสฺส อสุรินฺโท ปวุจฺจต
ภควโต จาตุมมหาราชา อรหโต สกฺโก ตถา
สมฺมาสมฺพุทธสฺสาติ มหาพฺรหฺเมหิ ปวุจฺจติ
อิติ เอวํ ปญฺจเทเวหิ ฐปิตาติฯ
นโม                 สาตาคิรายักษ์         เป็นผู้ตั้ง
ตสฺส                 อสุรินทราหู           เป็นผู้ตั้ง
ภควโต               ท้าวจาตุมหาราช      เป็นผู้ตั้ง
อรหโต               ท้าวสักเทวราช        เป็นผู้ตั้ง
สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส      ท้าวมหาพรหม        เป็นผู้ตั้ง
ผู้กล่าวนะโมครั้งแรกในโลก
                เมื่อครั้งสมัยพุทธกาล ณ แดนหิมวันต์ประเทศ มีเทือกเขาชื่อว่า สาตาคิรี เป็นที่ร่มรื่น รมณียสถาน เป็นที่อยู่ของพวกยักษ์ที่เป็นภุมเทพยดา อันมีนามตามที่อยู่ว่า สาตาคิรียักษ์ มีหน้าที่เฝ้าทางเข้าหิมวันต์ ทางทิศเหนือ เป็นบริวารของท้าวเวสสุวัณ สาตาคิรียักษ์ได้มีโอกาสสดับ พระสัทธรรมจากพระบรมศาสดา จนมีจิตเลื่อมใสศรัทธา เปล่งคำยกย่องบูชาด้วยคำว่า นะโมหมายถึง พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นใหญ่กว่า มนุษย์ เทพยดา พราหมณ์ มาร ยักษ์ และสัตว์ทั้งปวง
         กล่าวฝ่ายอสุรินทราหู เมื่อได้สดับพระเกียรติศัพท์ ของพระบรมศาสดา ก็มีจิตปรารถนาที่จะได้ฟังธรรมของพระบรมศาสดาบ้าง แต่ด้วยกายของตนใหญ่โตเท่ากับโลก จึงคิดดูแคลน พระบรมศาสดาว่า มีพระวรกายเล็กดังมด จึงอดใจรั้งรออยู่ พอนานวันเข้า พระเกียรติคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ยิ่งขจรขจายไปทั้งสามโลกจนทำให้อสุรินทราหูอดทนรออยู่มิได้ จึงเหาะมาในอากาศ ตั้งใจว่าจะร่ายเวทย่อกาย เพื่อเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอฟังธรรม แต่พอมาถึงที่ประทับ อสุรินทราหู กลับต้องแหงนหน้าคอตั้งบ่า เพื่อจะได้ทัศนาพระพักตร์พระบรมศาสดา พระผู้มีพระภาคจึงทรงแสดงพระสัทธรรม ชำระจิตอันหยาบกระด้าง ของอสุรินทราหู ให้มีความเลื่อมใสศรัทธา แสดงตนเป็นอุบาสกผู้ถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต แล้วกล่าวสรรเสริญพระบรมศาสดาว่า ตัสสะแปลว่า ขอบูชา ขอนอบน้อม ขอนมัสการ
       เมื่อครั้งที่ท้าวจาตุมหาราช ทั้ง ๔ ผู้ดูแลปกครองสวรรค์ชั้นแรก มีชื่อเรียกว่า ชั้น จาตุมหาราชิกา มีหน้าที่ปกครองดูแลประตูสวรรค์ทั้ง ๔ ทิศ พร้อมบริวาร ได้พากันเข้ามาเฝ้าพระบรมศาสดา แล้วทูลถามปัญหา พระบรมศาสดา ทรงแสดงธรรมตอบปัญหา แก่มหาราชทั้งสี่พร้อมบริวาร จนยังให้เกิดธรรมจักษุแก่มหาราชทั้งสี่ และบริวาร ท่านทั้ง ๔ นั้น จึงเปล่งคำบูชาสาธุขึ้นว่า ภะคะวะโตแปลว่า พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้จำแนกธรรมอันยิ่ง อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
         อะระหะโต เป็นคำกล่าวสรรเสริญ ของท้าวสักกะเทวราช เจ้าสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น  ท่านสถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ท้าวสักกะเทวราช ได้ทูลถามปัญหา แด่พระผู้มีพระภาค พระพุทธองค์ทรงตรัสปริยายธรรม และ ทรงตอบปัญหา จนทำให้ท้าวสักกะเทวราช ได้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุเป็นพระโสดาปัตติผล จึงเปล่งอุทานคำบูชาขึ้นว่า อะระหะโตแปลเป็นใจความว่า อรหันต์ เป็นผู้ไกลจากกิเลส ไกลจากเครื่องข้องทั้งปวง
            สัมมาสัมพุทธัสสะ เป็นคำกล่าวยกย่องสรรเสริญ ของท้าวมหาพรหม หลังจากได้ฟังธรรม จนบังเกิดธรรมจักษุ จึงเปล่งคำสาธุการ สัมมาสัมพุทธัสสะหมายถึง ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยพระองค์เอง ทรงรู้ดี รู้จริง รู้ยิ่ง กว่าผู้รู้อื่นใด รวมเป็นบทเดียวว่า นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะแปลโดยรวมว่า ขอนอบน้อมแด่ พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ไกลกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
ประวัติผู้กล่าว
               สาตาคิรายักษ์ เป็นเทวดาชาวเขา ว่าอยู่ที่เขาสาตาคิรี จัดเป็นภุมเทพ เทวดาที่อยู่บนแผ่นดินในมหาสมัยสูตร ปรากฏมีถึง ๓,๐๐๐ แต่ในที่นี้อ้างไว้เป็น เอกพจน์ คือ นโม สาตาคิรายกฺโข” “นโมฯ สาตาคิรายักษ์เป็นผู้ตั้งที่จะหมายถึงหัวหน้า หรือผู้เป็นใหญ่ของพวกเทวะพวกนั้น
                อสุรินทราหู ราหูเป็นชื่อ อสุรินทะ บอกยศว่า จอมอสูร อสูรเป็นเทวะพวกหนึ่งเหมือนกัน เป็นทิพกาย มีกายเป็นทิพย์ ราหูนั้น เป็นอริกับ สุริยเทพคือพระอาทิตย์ และจันทรเทพคือพระจันทร์ เป็นมิตรกับจอมอสูรพิภพอสูร ชื่อท้าวเวปจิติ
                จาตุมหาราช เป็นเทวะหมู่ แปลว่า ท้าวมหาราชทั้ง ๔ ที่อยู่ของท้าวเทวะราชทั้ง ๔ เป็นพิภพที่จัดเข้าในสวรรค์ ๖ ชั้น แต่เป็นชั้นแรกเรียกว่า จาตุมหาราชิกา ท้าวมหาราชทั้ง ๔ มีหน้าที่ปกครองโลก เรียกว่า ท้าวจตุโลกบาล ปันกันคนละทิศ
ท้าวธตรฐ เป็นอธิบดีของพวกคนธรรพ์ ครองทิศตะวันออก
ท้าววิรูฬหก เป็นอธิบดีของพวกกุมภัณฑ์ ครองทิศใต้
ท้าววิรูปักษ์ เป็นอธิบดีของพวกนาค ครองทิศตะวันตก
ท้าวกุเวร (เวสวรรณ์ หรือ เวสสุวรรณ) เป็นอธิบดีของพวกยักษ์ ครองทิศเหนือ
                 ท้าวสักเทวราช เรียกชื่อกันสามัญว่า พระอินทร์ และยังมีอีกหลายชื่อ ท้าวสหัสนัยน์ สหัสเนตร มัฆวาน วาสพ บุรินทท ชื่อที่เรียกทั่วไปในคัมภีร์ คือ สกฺโก เทวราชา ท้าวสักกะเทวราชเป็นเจ้าพิภพดาวดึงษ์ ปกครองถึงจาตุมหาราชด้วย พระอินทร์ที่ยังครองดาวดึงษ์อยู่ในปัจจุบันเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน
ท้าวมหาพรหม เป็นเทวะชั้นสูง อยู่ในภพต่างหากจากเทวะสามัญ ซึ่งเรียกว่า เทวโลก ภพที่อยู่ของพรหมเรียกว่า พรหมโลก แต่คงจัดเข้าเทวะ เพราะเป็นพวกทิพย์ด้วยกัน ที่ต่างกับเทวะในเทวโลกนั้น  เพราะกรรมที่ให้บังเกิดต่างกัน ผู้ในทานรักษาศีลไปเกิดในเทวโลก ผู้ได้ฌานสมาบัติ จึงจะได้ไปเกิดในพรหมโลก แยกตามลำดับกำลังฌานเป็น ๒ ภพ คือ รูปภพ ชั้นที่เกิดของผู้ได้รูปฌาน อรูปภพ ชั้นที่เกิดของผู้ที่ได้อรูปฌาน ท้าวมหาพรหม ได้ฌานซึ่งเพ่งรูปเป็นอารมณ์เกิดในรูปภพ
เทวะทั้ง ๕ จำพวก ที่ปรากฏว่าเป็นผู้แต่งตั้ง นโมฯ มีเรื่องราวโยย่อๆ ดังที่กล่าวมาข้างบนนั้น เดี่ยวก็มี หมู่ก็มี จะแต่งตั้งนโมฯ อย่างไร เห็นอยู่ทางหนึ่งว่า ต่างคนต่างกล่าวนมัสการ ตามอัธยาศัยที่มีปสาทศรัทธา ต่อมาคัดของท่านผู้นั้นบ้างท่านผู้นี้บ้าง พระอรหันตคุณนำผสมกันเข้าเป็นบทนมัสการประจำสืบต่อกันมา
ความหมายของบทนมัสการพระคุณพระพุทธเจ้า
                บทนมัสการพระคุณของพระพุทธเจ้าไม่มีกำหนดให้ว่า ๑ จบ หรือ ๒ จบ ว่าคราวใดต้องสวด ๓ จบ ทุกครั้ว ที่เป็นดังนี้ มีอรรถาธิบายว่า เพื่อนมัสการพระพุทธเจ้าให้ครบประเภท ซึ่งมีอยู่ ๓ คือ
               ๑.พระปัญญาธิกพระพุทธเจ้า ได้แก่พระพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ด้วยทรงใช้ปัญญาอย่างเรี่ยวแรง กำหนดระยะกาลบำเพ็ญบารมี ๔ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป มีจำนวน ๕ แสน ๑ หมื่น ๒พัน ๒๗พระองค์ เรียกว่า พระอุคะฆะติตัญญู
               ๒.พระสัทธาธิกพระพุทธเจ้า ได้แก่พระพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ด้วยทรงใช้ศรัทธาอย่างเรี่ยวแรง กำหนดระยะกาล บำเพ็ญ บารมี ๘ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป มีจำนวน ๑ ล้าน ๒หมื่น ๔ พัน ๕๔ พระองค์ เรียกว่า พระวิปะจิตัญญู
              ๓. พระวิริยาธิกพระพุทธเจ้า ได้แก่พระพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ด้วยทรงใช้พระวิริยะอย่างเรี่ยวแรง กำหนดกาลบำเพ็ญบารมี ๑๖ อสงไขย ๑๐๐,๐๐๐ กัป มีจำนวน ๒ ล้าน ๔หมื่น ๘พัน ๑๐๘ พระองค์ เรียกว่า พระเนยยะ พระพุทธเจ้าในภัทรกัปปัจจุบันนี้ และพระพุทธเจ้าของเราเป็นหนึ่งในพระวิริยาธิกพระพุทธเจ้า

               การต้องเปล่งวาจานมัสการถึง ๓ ครั้งนั้น เพื่อเป็นการผูกใจให้แนบสนิทอยู่กับพระคุณจริงๆ ไม่โยกแยกโคลงกวัดแกว่งไปง่ายๆ จิตก่อนที่จะประกอบกิจกรรทางพระศาสนานั้น เคยเป็นทาสแห่งอารมณ์ คลุกเคล้าอยู่กับอารมณ์ต่างๆ จะแยกอารมณ์นั้นออกโดยทันทีนั้นย่อมไม่ได้ พรากมาแล้ว ก็คอยจะหวลกลับไปเหตุนั้นจึงต้องดำเนินการเป็น ๓ ขั้น คือ
๑. บริกรรม การเปล่งวาจา นมัสการ พระพุทธเจ้าเป็นครั้งที่ ๑ ทำให้กำหนดลมหายใจ กดใจในบทนมัสการ ทิ้งอารมณ์อื่น ที่เคยดื่มมานั้นๆเสีย จดจ่ออยู่กับบทนมัสการ
๒. อุปจาร การเปล่งวาจา นมัสการ พระพุทธเจ้าเป็นครั้งที่ ๒ เป็นการกระทำจิตให้เข้าใกล้เข้าชิด แอบอิงอยู่กับบทนมัสการ แต่ยังไม่แน่วแน่ เพราะเพิ่งพรากจากอารมณ์ต่างๆ ได้ใหม่ๆ ยังมีสั่นไหวแต่ก็ไม่หวลกลับไปหาอารมณ์เก่าคงไหวสั่นอยู่กับบทนมัสการนั้นเอง
๓. อัปปนา การเปล่งวาจา นมัสการ พระพุทธเจ้าเป็นครั้งที่ ๓ เป็นการกระทำจิตให้เข้าแนบแอบสนิทกับบทนมัสการ ไม่มีอาการสั่นไหวสงบนิ่ง เป็นจิตที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง เป็นกุศลอยู่ในตน และเป็นพื้นฐานแห่งกุศลอื่นๆอีก เป็นอเนกเรียกว่า กมฺมนีย ควรแก่การงาน

การตั้ง นะโม
ระเบียบในการตั้ง นโมฯ นั้น กำหนดตามระยะที่ขาดเสียงลงเป็นชั้นๆ มีชื่อเรียกตามชั้นๆ ดังนี้ คือ
นะโม ฯ ชั้นเดียว
นะโม ฯ ๓ ชั้น
นะโม ฯ ๕ ชั้น
นะโม ฯ ๙ ชั้น
๑. นะโม ฯ ชั้นเดียว
(ขึ้น) นโม
(รับ) ตสฺ, สภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺ, ธสฺ, ส นโมตสฺ, สภควโต อรหโต
สมฺมาสมฺพุทฺ, ธสฺ, ส นโมตสฺ, สภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺ, ธสฺ, สฯ
๒. นะโม ฯ ๓ ชั้น
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺสฯ
๓. นะโม ฯ ๕ ชั้น
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส นโม ตสฺส ฯ
ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ฯ
นโม ตสฺส ภควโต ฯ
อรหโต สมฺมา ฯ
สมฺพุทฺธสฺส ฯ
๔. นะโม ฯ ๙ ชั้น
(ขึ้น)                      นโม ตสฺส ภควโต ฯ
(รับ)                       อรหโต 
                                สมฺมา ฯ
                                สมฺพุทฺธสฺส นโม ตสฺส ภควโต ฯ
                                อรหโต ฯ
                                สมฺมา ฯ
                                สมฺพุทฺธสฺส นโม ตสฺส ภควโต ฯ
                                อรหโต ฯ
                                สมฺมา ฯ
                                สมฺพุทฺธสฺส ฯ
                                

2 ความคิดเห็น:

  1. การสวดนะโม แต่ละอย่างใช้ในโอกาสใดบ้างครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ3 มีนาคม 2560 เวลา 10:20

    1 ชั้น ใช้เมื่อสวดมาติกาบังสุกุล, 3 ชั้น ใช้เมื่อ ให้ศีล, 5 ชั้น ใช้เมื่อทำสังฆกรรม, 9 ชั้น ใช้เมื่อเจริญพุทธมนต์ ครับ

    ตอบลบ